ต่างกันจะใด? ปีใหม่เมืองกับปีใหม่ไทยทำไมถึงแตกต่างกัน

อย่างที่รู้กันดีว่าวันขึ้นปีใหม่ตามสากลคือ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปี แต่คนภาคเหนือตามภาษาถิ่นที่เรียกแทนตัวเองว่า “คนเมือง” ยังให้ความสำคัญกับวันปีใหม่ดั้งเดิมอยู่มาก เพราะถือว่าเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ของท้องถิ่น ช่วงปีใหม่เมืองนี้ชาวเหนือจะมีพิธีกรรมต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับศาสนาหรือชุมชน ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆได้ลดความสำคัญจากวันปีใหม่ไทย(ช่วงวันสงกรานต์)ให้เป็นเพียงเทศกาลสงกรานต์ และมีการทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามปกติทั่วไป แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่ากับคนภาคเหนือ ฉะนั้นในส่วนของคนเหนือหรือคนเมืองแล้ว แทบจะไม่ได้พูดคำว่า “สงกรานต์” เลย ในภาษาคำเมืองจะเรียกกันว่า “ปี๋ใหม่เมือง” และเรียกวันขึ้นต้นปี 1 มกราคมว่า “ปี๋ใหม่ไทย” (ในกรณีสนทนาสื่อสารด้วยคำเมืองด้วยกัน) ซึ่งสื่อต่างๆ ก็รายงานข่าวด้วยคำนี้กันอยู่บ่อยครั้ง เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า สงกรานต์ของทางเหนือ คือ ประเพณี “ปี๋ใหม่เมือง” ที่อยู่ในช่วงเดียวกับ “ปีใหม่ไทย”
แต่ในส่วนของคนภาคอื่นๆ คำว่า “ปีใหม่ไทย” หมายถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่คำว่าปี๋ใหม่เมืองถูกพูดถึงบ่อยครั้งเป็นเพราะ เป็นเทศกาลใหญ่ของคนภาคเหนือที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ และเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อพูดถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็นึกถึงเทศกาลปีใหม่เมืองเป็นอันดับแรกๆ

ซึ่งในช่วงปีใหม่เมืองจะมีวันที่ปฏิบัติประเพณีที่เป็นวันๆอย่างละเอียดตามขนบธรรมเนียมของชาวล้านนาดีงนี้ วันที่13 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันสังขานต์ล่อง” เป็นวันแรกของกิจกรรมประเพณีปีใหม่เมือง หลังเที่ยงคืนวันที่ 13 เมษายน จะมีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อส่งสังขารหรือไล่สังขาร วันนี้สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน การทำความสะอาดเจ้าที่ ศาลพระภูมิ บางท้องถิ่นจะทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขานต์” แล้วพากันแห่ขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ในบางพื้นที่จะเตรียมเสื้อผ้าของแต่ละคนในครอบครัวไปทำพิธีในวัดวันนี้โดยพับเสื้อผ้าให้เรียบร้อยใส่ในสลุงหรือตะกร้าแล้วนำสตวงไปวางทับอีกทีเแล้วไปทำพิธีในวัด เมื่อเสร็จจะเอาผ้าไปสะบัดที่แม่น้ำเชื่อว่าเป็นการสะบัดเคราะห์ บางพื้นที่จะมีการนำเชือกสายสินธ์ของแต่ละครอบครัวเช่นในครอบครัวมี 5 คนก็นำเชือกมา 5 เส้นมา เชือกนั้นจะชุบน้ำมันเพื่อนำไปเผาเวลาทำพิธี และในวันนี้จะมีการสระเกล้า สระผมของตัวเองตามทิศที่เป็นมงคลซึ่งจะบอกในปฏิทินปี๋ใหม่เมือง วันนี้สมาชิกในครอบครัวจะทำความสะอาดบ้านเรือน ทั้งบนเรือนและใต้ถุนบ้าน บางท้องถิ่นจะทำคานหามใส่ดอกไม้ ธูปเทียน ต้นดอก ต้นเทียน เรียกกันว่า “ต้นสังขาร” แล้วพากันแห่ขบวนเอาคานหามไปลอยน้ำเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ วันที่ 14 เมษายน “วันเน่าหรือวันเนาว์” เป็นวันที่สองของประเพณีปีใหม่เมือง ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น “วันดา” คือวันที่ต้อง เตรียมสิ่งของต่างๆ เพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน ผู้คนจะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำ เข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ เชื่อกันในวันเน่า ไม่ควรด่าทอ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว หากสาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปี ถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี และในวันนี้จะเป็นวันเตรียมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเพณี เช่นของดำหัว เครื่องทำขึ้นต้าวตังสี่ เป็นต้น

วันที่ 15 เมษายน “วันพระยาวัน” เป็นวันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ หรือเรียกว่า “ทานขันข้าว” (อ่านเสียงล้านนา “ตานขันเข้า”) หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และผู้สูงอายุก็จะอยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ช่วงบ่ายเป็นการรดน้ำดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ วันนี้คนล้านนาจะทัดดอกไม้นามปี เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต นอกจากนี้ ยังนิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ เป็นต้นว่า มนต์คาถา สักยันต์ หรือทำพิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ครู และในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระศาสนา และค้ำชูอุดหนุนให้แก่ชีวิตเจริญรุ่งเรือง วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่เมือง ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขอขมา ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ดำหัวผู้อาวุโส ผู้นำชุมชน ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว จะเห็นได้ว่าวันปีใหม่เมืองของชาวล้านนามีความละเอียดอ่อน และปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัวอย่างมาก ซึ่งทางเรามิได้มีเจตนาที่หมิ่นประเพณีในภูมิภาคอื่นๆ เพียงแค่ต้องการนำเสนอความสำคัญของปีใหม่เมือง ที่ชาวล้านนาให้ความสำคัญมาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย

ข้อมูลจาก : www.wikipedia.org
เรียบเรียงโดย นายธราดล วุฒิกรณ์ และ นายเรืองศักดิ์ จันทร์น้อย นักศึกษาฝึกประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร

ร่วมแสดงความคิดเห็น