โลกสีชมพู “นางพญาเสือโคร่ง” ซากุระเมืองไทย

“ซากุระ” เป็นดอกไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในจีนตอนใต้ , เกาะไต้หวัน และหมู่เกาะโอกินาวา ญี่ปุ่น มีดอกสีขาว กลีบแต่ละกลีบมีจำนวนแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด ซึ่งลักษณะเด่นของซากุระนั้นก็คือ เมื่อร่วง จะร่วงพร้อมกันหมด ซากุระจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็น “ทหาร” และวิถีความเป็น “บูชิโด” ของญี่ปุ่น

สำหรับดอกซากุระที่มีอยู่ในเกาหลี, สหรัฐอเมริกา , แคนาดา , จีน หรือที่อื่นๆ ไม่มีกลิ่น ขณะที่ซากุระของญี่ปุ่นนั้นผู้คนจำนวนมากยกย่องชื่นชมกลิ่นของซากุระ และมักจะกล่าวฝากไว้ในบทกวี โดยซากุระจะบานในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ที่อุณหภูมิเริ่มอุ่นขึ้นจากฤดูหนาวที่หมดไป

คำว่า “ซากุระ” ในภาษาญี่ปุ่นนั้น เชื่อกันว่ากร่อนมาจากคำว่า “ซะกุยะ” (หมายถึง ผลิบาน) อันเป็นชื่อของเทพธิดา “โคโนฮะนะซะคุยาฮิเม” ที่ปรากฏในเทพปกรณัมของญี่ปุ่น มีศาลบูชาของพระองค์อยู่บนยอดเขาฟูจิด้วย สำหรับพระนามของเทพธิดาองค์ดังกล่าวนั้น มีความหมายว่า “เจ้าหญิงดอกไม้บาน” และเนื่องจากซากุระเป็นดอกไม้ที่นิยมกันมากในญี่ปุ่นสมัยนั้น คำว่าดอกไม้ดังกล่าวจึงหมายถึงดอกซากุระนั่นเอง เทพธิดาองค์ดังกล่าวได้รับพระนามเช่นนั้น ก็เพราะมีเรื่องเล่ามาว่าทรงตกจากสวรรค์ ตกลงมาบนต้นซากุระ ดังนั้น ดอกซากุระจึงถือเป็นตัวแทนของดอกไม้ญี่ปุ่น ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ “ดอกเก็กฮวย” (ดอกเบญจมาศ) เป็นดอกไม้ประจำชาติ

นอกจากนี้คำว่า ซากุระ ยังกล่าวถึงพืชที่อยู่ในสกุล Prunus อีกด้วย โดย “นางพญาเสือโคร่ง” เป็นหนึ่งในสกุลนั้น โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus cerasoides นางพญาเสือโคร่งแตกต่างจากซะกุระญี่ปุ่น คือ มีช่วงเวลาการออกดอกต่างกัน โดย นางพญาเสือโคร่งออกดอกในเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว ส่วนซากุระในญี่ปุ่นออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิของญี่ปุ่น และมีการสันนิษฐานว่า “นางพญาเสือโคร่ง” และซากุระมีบรรพบุรุษร่วมกันทางตอนใต้ของจีน และวิวัฒนาการออกไปจนมีสายพันธุ์มากมาย มีสีที่หลากหลาย

การจำแนกสายพันธุ์อย่างกว้าง นางพญาเสือโคร่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Wild Himalayan Cherry หมายถึง Prunus ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียทางตอนใต้ ตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัยในประเทศอินเดีย ส่วนซากุระถูกจำแนกเป็น Cherry blossom หมายถึง Prunus ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียทางตอนเหนือ ตั้งแต่ประเทศจีน, เกาหลี ไปจนถึงประเทศญี่ปุ่นและรัสเซียในเขตไซบีเรีย

สำหรับ “นางพญาเสือโคร่ง” ในเมืองไทยนั้น พบได้ทั่วไปบนภูเขาตั้งแต่ความสูง 1,200 – 2,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น ภูลมโล จังหวัดเลย , ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย , ดอยเวียงแหง – ดอยอ่างขาง – ขุนช่างเคี่ยน – ขุนแม่ยะ จังหวัดเชียงใหม่ , ขุนสถาน – ดอยวาว – ดอยภูคา – มณีพฤกษ์ จังหวัดน่าน , ภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์, ภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ฯลฯ โดยเป็นดอกไม้ประจำ “อำเภอเวียงแหง” จังหวัดเชียงใหม่ 

ซึ่งนางพญาเสือโคร่ง เป็นพรรณไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติอยู่ที่ตอนเหนือของประเทศไทย ในต่างประเทศ พบนางพญาเสือโคร่งในประเทศพม่า รัฐฉานและรัฐคะฉิ่น , ประเทศอินเดียพบบนเทือกเขาหิมาลัย ในรัฐอรุณาจัลประเทศยาวไปจนถึงรัฐหิมาจัลประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย หรือที่เรียกว่า Himalayas , ประเทศภูฏาน , ประเทศเนปาล และประเทศจีนพบในมณฑลยูนนาน โดย นางพญาเสือโคร่ง นั้นถูกนิยมเรียกว่า “ซากุระเมืองไทย” เพราะมีลักษณะคล้ายซากุระในประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นคนละชนิดกันก็ตาม…!!! 

ชื่อท้องถิ่นของนางพญาเสือโคร่ง มีแตกต่างกันออกไป เช่น ฉวีวรรณ , ชมพูภูพิงค์ (เหนือ) , เส่คาแว่ , เส่แผ่ , แส่ลาแหล (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) ซากุระดอย (เชียงใหม่) และได้รับฉายาว่า ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะเรียกดอกไม้พันธุ์นี้ว่า “หิมาลายาซากุระ” หมายถึงซากุระจากหิมาลัย

นางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ลักษณะรูปรีแบบไข่ หรือไข่กลับ ออกสลับกัน ใบมีความกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5 -12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือสอบแคบ ขอบจักปลายก้านใบมีต่อม 2-4 ต่อม หูใบแตกแขนงคล้ายเขากวาง ใบร่วงง่าย ดอกสีขาว ชมพู หรือแดง ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.7-2 เซนติเมตร ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผลเป็นรูปไข่หรือกลม ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เมื่อสุกสีแดง ระยะเวลาออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก

ผลของนางพญาเสือโคร่งนั้น สามารถนำมารับประทานได้ มีรสออกเปรี้ยว ส่วนเนื้อไม้และการใช้ประโยชน์ ด้านอื่นยังไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้ นอกจากการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกสวยงาม การปลูกเลี้ยงได้มีการปลูกนางพญาเสือโคร่งบนพื้นที่ต้นน้ำลำธารมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วปรากฏว่าได้ผลดี เป็นไม้ที่มีความเหมาะสมในการที่จะขึ้นอยู่ในพื้นที่ผ่านการทำไร่เลื่อนลอย บนพื้นที่สูง แต่ไม่ควรปลูกบนพื้นที่ซึ่งมีลมพัดจะทำให้กิ่งก้านหักได้ง่าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น