สัมผัสธรรมชาติ บ้านแม่กำปอง บ้านเล็กในป่าใหญ่ ใกล้เมือง

บ้านเล็กในป่าใหญ่ คือหมู่บ้านแห่งนี้ ที่ล้อมรอบได้ด้วยต้นไม้สูงใหญ่อย่างหนาแน่น หมู่บ้านซ้อนตัวท่ามกลางป่าเขา ผู้คนมีวิถีชีวิตพึ่งพิงอยู่กับป่า ทำให้เราต้องอยากไปสัมผัสบรรยากาศและศึกษาวิถีชีวิต และวัฒนธรรม

ออกเดินทางจากเชียงใหม่ไปทางถนนสันกำแพง ขับรถไปไม่ถึงชั่วโมงแล้วก็มาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ หนทางที่คตเคี้ยวสองข้างทางที่เป็นป่าเขาร่มรื่น เราเริ่มรู้สึกถึงความเย็นสบายเข้ามากระทบ ยิ่งเราเข้าใกล้หมู่บ้านที่เป็นปลายทางเท่าไรเรายิ่งรู้สึกถึงความหนาวเย็นเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อีกไม่กี่นาทีเราก็มาถึงยังจุดหมายปลายทางของเรานั้นคือบ้านแม่กำปอง 
บ้านแม่กำปอง แต่ก่อนเป็นแค่หมู่บ้านเล็กๆที่มีผู้คนอาศัยไม่กี่หลังคาเรือน หมู่บ้านแห่งนี้เต็มไปด้วยป่าไม้ที่หนาทึบมีต้นไม้ใหญ่มากมาย ชาวบ้านเล่ากันมาว่า เมื่อสมัยก่อนนั้น “แม้แต่แสงแดดไม่สามารถส่องกระทบลงบนพื้นได้เลย” 

ประมาณ 200 ปีที่แล้ว พ่ออุ๊ยมา กิ้งแก้ว ชาวบ้านจากบ้านดอกแดง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางเข้าป่าเพื่อหาพื้นที่ ที่เหมาะสมกับการทำปลูกต้นเมี่ยง กระทั่งพบกับพื้นที่ที่เป็นชุมชนบ้านกำปองในปัจจุบัน ซึ่งมีสภาพดินที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณตามธรรมชาติ อากาศที่สะอาดและแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ พ่ออุ๊ยมาจึงบุกเบิกพื้นที่เพื่อปลูกเมี่ยง และเมื่อญาติพี่น้องเห็นว่าสามารถปลูกเมี่ยงได้ดี จึงอพยพตามกันมา เมื่อมีจำนวนประชากรมากขึ้นทำให้เกิดการจัดตั้งพื้นที่นี้เป็นหมู่บ้าน ได้ชื่อว่า “บ้านแม่กำปอง” ซึ่งเป็นชื่อของดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก 

ชื่อหมู่บ้าน คำว่า “แม่” มาจาก แม่น้ำ ลำธาร ส่วนคำว่า “ปอง” มาจากชื่อดอกคำปอง บ้านแม่กำปองมีอายุประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว คนที่มาบุกเบิกที่นี้ส่วนมากจะเป็นคนที่มาจาก อำเภอดอยสะเก็ด ก่อนหน้านั้นหมู่บ้านแม่กำปองแห่งนี้จะเป็นหมู่บ้านป่าเมี่ยงที่ทุรกันดาร คนในหมู่บ้านจะทำอาชีพ ปลูกเมี่ยง (ใบชา) ทำไร่ และทำส่วนกาแฟ ปัจจุบันในหมู่บ้านแม่กำปองมีผู้คนอาศัยอยู่ 380 กว่าคน มีบ้านกว่า 134 หลังคา และยังยึดทำอาชีพในการทำเมี่ยงเป็นหลัก ใบเมี่ยงสามารถนำมาแปรรูปได้หลายอย่างอีกด้วย ไม่ว่าจะนำมาทำเป็นอาหาร เช่น ยำใบเมี่ยง เมี่ยงคำ เป็นต้นแล้ว ยังสามารถเอาใบเมี่ยงมาทำเป็นหมอนใบเมี่ยง(หมอนใบชา)ที่มีกลิ่นหอมเอาไว้เป็นของฝากได้อีกด้วย 

บ้านแม่กำปอง มีการรักษาอนุรักษ์ดูแลป่าจึงมีอากาศหนาวเย็นสบายตลอดทั้งปี จนได้พัฒนามาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวในปี 2543 ที่เปิดเป็นทางการ บ้านแม่คำปองยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติมากมาย จึงมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปชื่นชมความงามอย่างไม่ขาดสาย ในหมู่บ้านยังมีโฮมสเตย์ให้บริการนักท่องเที่ยวที่เข้ามาแวะเวียนเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน มีกิจกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงภูมิปัญญาของคนในหมู่บ้าน 

กิจกรรมในหมู่บ้านที่น่าศึกษาประเพณีของชาวบ้านแม่กำปอง ประเพณีเดือนยี่เป็ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมกราคม ชาวบ้านจะทำพิธีตานข้าวใหม่ คือการทำบุญใส่บาตรด้วยข้าวใหม่ หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวประเพณีวันปี๋ใหม่เมือง หรือประเพณีสงกรานต์ในเดือนเมษายน ซึ่งจะมีพิธีตามรูปแบบล้านนาของภาคเหนือ เช่น ขนทรายเข้าวัด ประเพณีวันเข้าพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคม ชาวบ้านมีพิธีทำบุญตักบาตร ประเพณีวันสิบสองเป็ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกันยายน ประชาชนจะร่วมกันในประเพณีตานก๋วยสลาก ซึ่งถือเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และร่วมกันตานเจดีย์ทราย หรือการก่อกองทรายภายในวัด ประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทง ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤศจิกายน ประชาชนจะจัดทอดกฐิน มีกิจกรรมฟังเทศน์ฟังธรรม พิธีกรรมเข้าวงกต ได้แก่การเดินเข้าไปในแนวเขตล้อมผ้าที่ทางวัดจัดทำขึ้นเป็นทางเดินปริศนาธรรม หากผู้ใดหาทางออกได้ ก็จะถือว่าเป็นผู้ที่มีศีล สมาธิ พิธีกรรมนี้จะทำอยู่ 3 วัน และกำหนดทำขึ้นเพียงครั้งเดียวในทุก 3 ปี

เดินป่าศึกษาธรรมชาติ

ด้วยผืนป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์จึงเป็นเส้นทางเดินป่าที่จะศึกษาธรรมชาติป่าไม้ได้อย่างดี ตามทางเดิน เราจะพบต้นไม้ต้นใหญ่ ไร่เหมี้ยง กาแฟ ที่ชาวบ้านปลูก แล้วยังมีดอกไม้ สมุนไพร ไม้ยืนต้นต่างๆ ไกด์นำทางคอยอธิบายสรรพคุณของพืชพันธ์ไม้ที่เดินผ่าน แต่ถ้าเรามองไปยังต้นไม้ต้นใหญ่ๆ เราจะตื่นตากับเถาวัลย์ป่าที่เลื้อยอยู่ขนาดหนา มีมากๆ พันเกาะเกี่ยวต้นไม้ใหญ่อย่างแน่นหนา เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยว หรือนักเดินป่าอย่างมาก

วัดแม่กำปอง

วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้าน มีวิหารไม้กลางน้ำที่สร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาวิจิตรงดงามด้วยหน้าบันแกะสลักไม้รูปครุฑกับลวดลายเครือเถาแปลกตา มีแม่น้ำไหลผ่าน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โบสถ์กลางน้ำ เป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์แห่งล้านนา

น้ำตกแม่กำปอง

เป็นน้ำตกที่มีความสูง 7 ชั้น มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ชั้นบนสุด ชั้นที่ 7 จะมีแอ่งน้ำที่ลงเล่นน้ำได้ และยังมีน้ำใสไหลเย็นตลอดทั้งปีอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ สามารถเดินได้ทั้งระยะไกลและระยะใกล้ โดยระยะทางที่จะเดินสามารถเดินไปถึง ดอยม่อนล้านได้ 

ดอยม่อนล้าน

ดอยม่อนล้าน เป็นดอยที่มีความสูงที่สุดใน อำเภอแม่ออน ซึ่งสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบทิศ บนยอดดอยม่อนล้านก็ยังมีสวนสน สวนสมเด็จย่า และลานของศูนย์พิทักษ์ป่า ซึ่งสามารถกางเต็นท์พักแรม บรรยากาศบนยอดดอยจะมีอากาสที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี และที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงฤดูหนาวประมาณ เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ต้นพญาเสือโคร่งหรือต้นซากุระเมืองไทย ก็จะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งสวยงามมากทีเดียว

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก

เป็นศูนย์สาธิต และส่งเสริมการเพาะเห็ด กาแฟพันธุ์อาราบิก้า และไม้ดอกไม้ประดับ ให้แก่ราษฎรผู้สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ พื้นที่ประมาณ 21,656 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ บ้านป๊อก แม่ลาย บ้านแม่กำปอง และบ้านธารทอง ประชากรเป็นคนเมืองทั้งสิ้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ มีที่ราบเชิงเขาบางส่วน สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ สูงจากระดับน้ำทะเล 700-1,200 เมตร บ้านเล็กในป่าใหญ่ วิถีผู้คนกับผืนป่า สายสัมพันธ์ สายใยและภูมิปัญญา “บ้านแม่กำปอง”

การเดินทางไปยังบ้านแม่กำปอง

สามารถใช้เส้นทางเชียงใหม่-สันกำแพง ทางหลวงหมายเลข 1317 ขับออกจากตัวเมืองด้านน้ำพุร้อนสันกำแพงประมาณ 50 ก.ม. ขับตรงมาจนถึงกิ่งอำเภอแม่ออน รวมระยะทางจากสามแยกทางเข้าน้ำพุร้อนสันกำแพงมาถึงหมู่บ้านแม่กำปอง 18 ก.ม.

ร่วมแสดงความคิดเห็น