38 มรภ.ลงนามความร่วมมือใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง ในการใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม 2561 ณ อาคารศูนย์สุขภาพและกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดยมี ผศ.ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เข้าร่วม

ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวในนามของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ว่าการฝึกหัดครูและการพัฒนาครู ถือเป็นรากเหง้าของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตั้งแต่เป็นโรงเรียนฝึกหัด, วิทยาลัยครู, สถาบันราชภัฏ จนมาถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน ซึ่งข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มากกว่าครึ่งเป็นครูที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะฉะนั้น มรภ.ได้ตระหนักเสมอว่า การผลิตและการพัฒนาครูเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัย

ประกอบกับพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทำคุณประโยชน์ในการพัฒนาคน และพัฒนาครูในท้องถิ่น

ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบาย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นเลิศ โดยกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน ตลอดจนก้าวไปสู่หลักสูตรสากล ที่ช่วยพัฒนาครูที่มีคุณภาพสูงขึ้น ทัดเทียมนานาประเทศ

ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง และประธานคณะทำงานปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน จำนวน 7 หลักสูตร และพยายามที่จะขยายไปให้ถึง 27 หลักสูตร ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมปรับปรุงเชิงคุณภาพ ให้เป็นหลักสูตรที่มีความสมบูรณ์ เหมาะสม และสอดคล้องกับสมรรถนะครูในทุก ๆ ภาคส่วน

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า หลักสูตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะที่มีความเป็นสากล โดยมีสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม คือ ด้านการเรียนการสอน การพัฒนานักเรียน นักศึกษา ที่เน้นการปฏิบัติกิจกรรมมากขึ้น พร้อมทั้งจะมีการพัฒนาครูอาจารย์ด้านการศึกษา และการนำหลักสูตรมาปรับใช้ในทางวิชาการต่อไป

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นช่วงของวิวัฒนาการ การปรับเปลี่ยนในทุกสาขาวิชาชีพ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องครูเท่านั้น เพื่อจะให้การผลิตผู้เรียนตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งมีความเชื่อเสมอมาว่า ด้านของความสามารถ คนไทยมิได้ด้อยไปกว่าชาติใด ๆ แต่อย่างใด
ซึ่งการเรียนการสอนคณะครุศาสตร์ขณะนี้ ได้ปรับลดระยะเวลาเหลือ 4 ปี และไม่แน่ว่าในอนาคต อาจลดลงไปอีกจนเหลือเพียง 3 ปี เนื่องจากหลักการของมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือในหลาย ๆ ประเทศ หลักสูตรปริญญาตรีทั่วไปในหลายสาขาวิชาใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีเท่านั้น

ซึ่งจะสอดคล้องและตอบโจทย์เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีช่องทางการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ผ่านสื่อเทคโนโลยี สื่อดิจิทัล อินเตอร์เน็ต และอีกมากมาย
เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ช่วยเสริมสร้างประเทศให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะการยกระดับทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เราหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ ครูจึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการผลิตคนที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดงาน และผู้ประกอบการเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับกำลังฐานสมรรถนะมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความสนใจในเรื่องของสถาบันการศึกษาลดลง

การลงนามในครั้งนี้ เพื่อการใช้หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 4 ปี อิงสมรรถนะ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง จึงนับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทย ในการผลิตบุคลากรครูที่จะไปสอนให้ผู้เรียนมีสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 สอนนักศึกษาทั้งประเทศให้เป็นคนไทย 4.0 เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง เป็นคนไทยที่ทันสมัย ทันเทคโนโลยี ทันโลก และเป็นคนเก่ง สามารถแข่งขันและสร้างประโยชน์ให้กับทุกที่ที่ไปอยู่ ทั้งในประเทศและเวทีระดับโลก

ร่วมแสดงความคิดเห็น