โอละพ่อ! ตำนานเจดีย์กิ่วเชียงใหม่ที่แท้เป็นเรื่องแต่ง

หลายคนคงเคยได้ยินตำนานของเจดีย์ขาว หรือ เจดีย์กิ่ว ณ ที่ริมแม่น้ำปิงแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่พนันเดิมพันด้วยบ้านเมือง ระหว่างเจ้าเมืองเชียงใหม่กับกษัตริย์พม่าที่ยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ โดยการดำน้ำแข่งกัน หากตัวแทนของเชียงใหม่ดำน้ำนานกว่าทางตัวแทนของพม่า ก็จะถอนทัพกลับทันที โดยมี “ปู่เปียง” ที่อาสาเป็นตัวแทนของดำน้ำชาวเชียงใหม่ แข่งกับนักประดาน้ำชาวพม่า ในที่สุดฝ่ายเมืองเชียงใหม่เป็นผู้ชนะ เพราะสามารถดำน้ำได้ทนนานกว่า จากการเสียสละชีวิตของ “ปู่เปียง”ที่ดำลงไปแล้วใช้ผ้าขาวม้าผูกตนเองติดกับหลักเสาใต้น้ำไว้จนสิ้นลมหายใจ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงความดีของ ”ปู่เปียง” ทางเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงได้สร้าง “เจดีย์กิ่ว” ไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในบริเวณที่มีการดำน้ำแข่งกัน

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้มีข้อเท็จจริงของเจดีย์กิ่วแห่งนี้มานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อเท็จจริงจากอีกแง่มุมหนึ่ง

ภาพถ่ายเจดีย์กิ่วในอดีต

เรื่องของ “ปู่เปียง” จริงๆ แล้วเป็นเพียงเรื่องแต่งของ “นายสงวน โชติสุขรัตน์” กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมือง ประมาณพ.ศ.2496 – 2498 เขาได้เขียนประวัติสถานที่สำคัญต่างๆในเมืองเชียงใหม่ แล้วรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่ายมีการกล่าวถึง เรื่อง “เจดีย์กิ่ว” ด้วยโดยผูกเป็นตำนานขึ้นมาเพื่อให้มีความสนุกน่าอ่านเท่านั้น

สะพานขัวแตะ หรือ สะพานจันทร์สมในปัจจุบัน

ในข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 56 ประจำวันที่ 18-24 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 โดยผู้เขียนเป็นคนในพื้นที่ เกิดที่ตำบลวัดเกตุฯ บ้านอยู่ริมแม่น้ำปิง ในปัจจุบันมีอายุ 79 ปี (พ.ศ.2545) จึงพอจะนึกภาพเก่าๆ ของเมืองเชียงใหม่ในอดีตได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อยังเป็นเด็กเคยข้ามสะพาน ”ขัวแตะ” จากฟากตะวันออกที่วัดเกตุฯ ไปสุดปลายสะพานฟากตะวันตกที่ร้านขายหนังสือพิมพ์ของนายทวีสิน ตุวานนท์ อยู่บ่อยๆ (ปัจจุบันคือสะพานจันทร์สม) เดินไปตามถนนเลียบแม่น้ำปิงขึ้นไปทางเหนือ ผ่านหน้าสถานีกาชาดที่ 3 (ขณะนั้นยังไม่มีสะพานนครพิงค์) ผ่านเจดีย์กิ่วไปจนบ้านวังสิงห์คำแล้วย้อนกลับทางเก่า

เจดีย์กิ่วและบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง สถานที่ที่เด็กๆ ชอบไปว่ายน้ำกันในอดีต

ยิ่งไปกว่านั้นในฤดูน้ำแม่ปิงไหลนองหลากยังสามารถว่ายข้ามแม่น้ำปิงจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกกลับไปกลับมา กับพวกเพื่อนๆรุ่นราวคราวเดียวกันได้อย่างสนุกสนานอีกด้วย ในสมัยนั้น พวกผู้ใหญ่ได้สั่งพวกเด็กๆ ที่มีบ้านใกล้แม่น้ำปิง ห้ามไปว่ายน้ำเล่นที่ ”เจดีย์กิ่ว” อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นหน้าแล้งหรือหน้าฝน เพราะเคยมีคนไปเล่นน้ำที่ตรงนี้และจมน้ำตายกันแทบทุกปี จนชาวบ้านกล่าวขวัญเล่าลือกันว่าที่ตรงนี้เป็นจุดอันตราย หรือจุด ”ผีกั่น” ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่เลยทีเดียว

แต่ก็ปรากฏว่ายังมีคนจมน้ำตายกันอยู่เสมอ ส่วนมากจะเป็นผู้ไม่รู้เรื่อง ”ผีกั่น” มาก่อนนั่นเอง และสิ่งที่จะเห็นตามมาหลังจากที่มีคนจมน้ำตาย ก็คือ ”สะตวง” ที่ญาติพี่น้องของคนตายนำมาวางไว้ที่ข้างฐานเจดีย์ เป็นการขอขมาแม่ธรณีและขอให้ดวงวิญญาณของคนตายได้ไปผุดไปเกิดในภพใหม่ โดยเชื่อกันว่า เพื่อคนตายจะได้เอาไปกินด้วยในภพหน้า

สาเหตุที่มีการเรียกชื่อว่า ”เจดีย์กิ่ว” ได้จากการที่เห็นมาด้วยตาของตนเองในวัยเด็กของผู้เขียน และ จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยนั้น กล่าวคือนับถอยหลังประมาณ 50 ปีมาแล้ว (ก่อนพ.ศ.2495) ที่ฝั่งแม่น้ำปิงตรงจุดนี้มีลักษณะเป็นกิ่วคอดเมื่อน้ำไหลจากทางเหนือลงมาจึงเกิดกระแสน้ำไหลวนอยู่ตลอดเวลากลายเป็นวังน้ำวน และลึก เป็นที่ท้าทายของเด็ก และผู้ใหญ่ที่ชอบลงไปว่ายน้ำเล่นกันมาก พวกที่แข็งแรงว่ายน้ำเก่งก็ไม่มีอันตรายอย่างใดทั้งสิ้น แต่ผู้ที่ว่ายน้ำไม่ค่อยแข็งแรง หรือ บางคนเกิดเคราะห์หามยามร้ายเป็นตะคริวขึ้นมา ต้องสังเวยชีวิตไว้ที่จุดนี้เป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกปีจำนวน ”สะตวง” ก็เพิ่มขึ้นไปด้วย ต่อมามีลูกเศรษฐีคนมีเงินมาจมน้ำตายที่ตรงนี้อีก พ่อแม่จึงสร้าง ”เจดีย์” ขึ้นมาแทน ”สะตวง” ชาวบ้านต่างพากันเรียกว่า ”เจดีย์กิ่ว” เพราะเรียกง่าย และอยู่ตรงจุดคอดกิ่วของแม่น้ำนั้นเองตั้งแต่มีการสร้างเจดีย์กิ่วจนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2545) มีอายุประมาณ 150 ปี ในสมัยนั้น เจดีย์ตั้งอยู่ตรงกิ่ว และติดแม่น้ำด้วยดังกล่าวแล้ว คงมีถนนอ้อมเจดีย์ทางทิศตะวันตกด้านเดียวเท่านั้น

ภาพถ่ายเจดีย์กิ่วในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2495-2496 สมัยที่หลวงศรีประกาศเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้สร้างถนนอ้อมเจดีย์ด้านตะวันออกขึ้นมาเพื่อให้ความสะดวกแก่ยานพาหนะวิ่งผ่านไปมา โดยการเอาดินถมลงไปในแม่น้ำตรงจุดคอดกิ่วจนเต็มแล้วทำผนังคอนกรีตเสริมเหล็กที่ริมฝั่งแม่น้ำ เพื่อความมั่นคงแข็งแรงป้องกันไม่ให้ดินพังทลายลงไปแม่น้ำ และขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้น้ำกัดเซาะตลิ่งอีกด้วยผนังคอนกรีตเสริมเหล็กนี้ยาวประมาณ 200 – 300 เมตร ตั้งแต่หน้าที่ทำการเทศบาลลงไปจนถึงมุมถนนท้ายวัง ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการเขียนตำนานเรื่อง ”เจดีย์กิ่ว” ของ นายสงวน โชติสุขรัตน์ ครั้งนั้นต่อมาคนรุ่นหลังจึงหลงเชื่อ คิดว่าเป็นเรื่องจริง ประกอบกับมีผู้จัดรายการวิทยุท้องถิ่นบางคนออกข่าวสนับสนุนอย่างเป็นตุเป็นตะนอกจากนี้ ยังมีการบันทึกในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือเมื่อปีพ.ศ.2542 อีกด้วยจึงทำให้ไขว้เขวไปกันใหญ่

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : Nubkao Kiatchaweephan
ภาพจาก : Chaimongkol Suwansawek
เว็บไซต์ : http://lannastoryandlegend.blogspot.com, http://culture.mome.co, http://lannadaily.blogspot.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น