อันตราย!! ยาจุดกันยุง ภัยร้ายที่ไม่ได้ส่งผลแค่ยุง

“ยุง” เป็นสัตว์พาหะที่นำโรคต่างๆ มาสู่มนุษย์อย่างเรามากมายหลายชนิด ทั้งโรคไข้เลือดออก โรคไข้มาลาเรีย และโรคร้ายอื่นๆ คนส่วนใหญ่จึงป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกยุงกัด ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น “การตบยุง” ทุกครั้งที่เห็นว่าตัวเองกำลังจะถูกยุงกัด หรือ “การใช้ยาจุดกันยุง” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนทราบหรือไม่ว่า ยาจุดกันยุง ไม่เพียงฆ่ายุงเท่านั้น แต่ยังส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างเราอีกด้วย

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกถึงภัยอันตรายที่เกิดจากยาจุดกันยุง และวิธีป้องกันอันตรายจากยาจุดกันยุงได้อย่างไรบ้าง

ยาจุดกันยุงคืออะไร
“ยาจุดกันยุง” มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม “สารไพรีทรอยด์ (Pyrethroids)” ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบสารไพรีทรินที่สกัดได้จากดอกไม้ เช่น ดอกเบญจมาศ ดอกไพรีทรัม เป็นต้น โดยสารนี้มีลักษณะเป็นผงสีเขียวปนน้ำตาล มีความสามารถในการสลายตัวได้เร็ว มีสภาวะเป็นด่าง สามารถออกฤทธิ์ในการป้องกัน และกำจัดแมลงได้

ยาจุดกันยุง ฆ่ายุงได้อย่างไร
“สารไพรีทรอยด์” จะเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทของยุง ทำให้ยุงเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว และตายในเวลาต่อมา คนส่วนใหญ่จึงมักจะใช้วิธีการไล่ยุงโดยการจุดยากันยุงไว้ตามมุมต่างๆ ของบ้าน เมื่อยุงได้กลิ่นก็จะกลัวและไม่กล้าบินเข้ามาใกล้ ทำให้เราปลอดภัยจากการโดนยุงกัดได้มากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สารไพรีทรอยด์ในยาจุดกันยุง จะมีความเป็นพิษต่ำกว่าสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มอื่น ทำให้ไม่พบการเกิดพิษ ถ้าใช้ยาจุดกันยุงในขนาดและวิธีการใช้แบบปกติ แต่ถ้าสูดดมควันจากยาจุดกันยุงในปริมาณมากๆ เนื่องจากอยู่ในสถานที่ปิด และคับแคบ หรือไม่มีอากาศถ่ายเทนานๆ จะทำให้เกิดอาการไม่ปกติได้เช่นกัน

ร่างกายได้รับสารพิษจากยากันยุงทางใด

  1. การสูดดม
    หากสูดดมในปริมาณมากและยาวนาน จะทำให้รู้สึกหายใจติดๆ ขัดๆ หรือหายใจไม่สะดวก
  2. การสัมผัสทางผิวหนัง
    การสัมผัส ก่อให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะคนที่ผิวแพ้ง่าย จะมีอาการคัน มีผื่นแดง ทั้งนี้เพราะสารระเหยสามารถซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่ายดาย
  3. การกลืนหรือกินเข้าไป
    จะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  4. การสัมผัสทางตา
    เมื่อสารจุดกันยุงเข้าตา จะก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น ตาแดง เจ็บตา หรือน้ำตาจะไหล

สารระเหยส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกายอย่างไรบ้าง
เมื่อร่างกายได้รับสารระเหยมากเกินไป ทั้งหมดนี้จะไม่เป็นอันตรายหากได้รับปริมาณน้อย หรือแก้ไขได้ทัน แต่ถ้ามีการสะสมของสารระเหยในยาจุดกันยุงเป็นเวลานานๆ สารระเหยจะเข้าไปทำลายเยื่อบุเมือก ของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้หลอดลมและกล่องเสียงอักเสบ อีกทั้งยังเข้าไปทำลายปอด ทรวงอก ทางเดินอาหาร ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ

อาการเมื่อสารระเหยส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายใน
ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจถี่รัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และหากได้รับในปริมาณสูงมากๆ จะมีอาการเป็นพิษแบบเฉียบพลัน ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย ชัก หรือหมดสติได้ คนทั่วไปว่ามีอันตรายแล้ว แต่คนที่อันตรายมากกว่าน่าจะเป็นหญิงมีครรภ์ เพราะสารจากยาจุดกันยุงเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ของมารดาเป็นอย่างมาก

รู้แบบนี้แล้ว เราทุกคนควรต้องรู้จักวิธีป้องกันอันตรายที่ถูกต้อง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาจุดกันยุงให้ได้มากที่สุด จุดเฉพาะเวลาที่จำเป็น และใช้ด้วยความระมัดระวัง ดังนี้

  1. จุดให้ห่างจากบริเวณที่มีคนอยู่และวางไว้เหนือลม
  2. จุดยากันยุงเฉพาะในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดีเท่านั้น หากเป็นห้องปิดหรือห้องที่มีอากาศอับชื้นไม่ควรจุดเด็ดขาด
  3. ขาตั้งและสิ่งรองยาจุดกันยุงต้องทำด้วยวัสดุโลหะหรือวัตถุอื่นที่ไม่ติดไฟ และวางให้ห่างจากของไวไฟ เมื่อเลิกใช้ยากันยุงแล้วควรตรวจดูให้แน่ใจว่าไฟดับเรียบร้อยแล้วเพื่อป้องกันอุบัติเหตุไฟไหม้
  4. ระวังไม่ให้สารระเหยจากยากันยุงสัมผัสถูกอาหาร หรือไม่ควรจุดยากันยุงใกล้กับบริเวณที่รับประทานอาหาร
  5. ล้างมือให้สะอาดทุก ๆ ครั้งหลังการหยิบหรือสัมผัสยาจุดกันยุง

ทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่า ยาจุดกันยุงที่เรามักจะใช้กันมีอันตรายอยู่ไม่น้อยเลย ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการปรับแต่งผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงให้มีกลิ่นหอมจากเดิม แต่ก็ไม่ได้ทำให้อันตรายของยาจุดกันยุงลดน้อยลงแต่อย่างใด

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง เราควรใช้ยาจุดกันยุงอย่างเหมาะสมและถูกวิธี เพื่อห่างไกลอันตรายจากสารเคมีของยาจุดกันยุง

ข้อมูลจาก สุขภาพน่ารู้.com
ภาพจาก phenkhao.com
เรียบเรียงโดย :“เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น