รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่เชียงใหม่ ขับเคลื่อนแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาภาคเหนือ สู่การปฏิบัติในระดับภาค

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 ที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค(ภาคเหนือ) พร้อมด้วย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารระดับสูงร่วมการประชุม เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ทิศทาง นโยบายและแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค(ภาคเหนือ เพื่อนำแนวทางการบูรณาการการพัฒนาการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในระดับภาค) โดยมีนายสุรินทร์ แก้วมณี รองศึกษาธิการภาค 15 รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 15 กล่าวต้อนรับ

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้เป็นการลงพื้นที่ติดตามงานของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการประชุมอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่ผมรับผิดชอบในการที่จะขับเคลื่อนการบูรณาการแผนการศึกษาระดับภูมิภาค ก็ได้มาติดตามงานที่สำนักงานศึกษาธิการภาคที่ 15 จังหวัดเชียงใหม่

ได้เชิญศึกษาธิการภาคทั้ง 6 ท่าน ซึ่งได้มีมติของ ครม.ให้แต่งตั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาแล้วก็ได้มาพิจารณาในเรื่องของงานที่ได้ดำเนินการอยู่เป็นการกำหนดทิศทางของการทำงานในพื้นที่ระดับภูมิภาค ซึ่งก็จะเกิดการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบการที่จะทำงานในลักษณะนี้ที่จะเกิดการบูรณาการ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล เรามีองค์กรหลักในการที่จะทำงานทั้งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. อาชีวศึกษา อุดมศึกษา สภาการศึกษาก็จะเกิดการเชื่อมโยง ทั้งในส่วนกลางก็จะเป็นผู้ที่จะกำหนดนโยนบายและให้การสนับสนุนและมีข้อระเบียบต่างๆที่จะต้องพัฒนาและดำเนินการไป

ทั้งนี้ จากการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาค เพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการศึกษาในระดับภาคและจังหวัด โดยการอำนวยการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาการศึกษาแบบร่วม มือและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นๆเพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่เกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ

กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในบริบทของมิติต่างๆ และบรรลุตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทยในปี 2580 คือ ประเทศมีความมั่งคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งเน้นการบูรณาการการศึกษาระดับภาคทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคใต้ชายแดน ให้เชื่อมโยงกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12

สำหรับแนวทางการบูรณาการด้านการศึกษาระดับภาค(ภาคเหนือ)มีหลักการสำคัญคือ 1.) ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้รับการศึกษาในระบบต่างๆและเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.)เด็กและเยาวชน ผู้เรียน มีทัศนคติที่ถูกต้องมีพื้นฐานชีวิตที่เข้มแข็ง และ 3.) การจัดการศึกษาสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่เป็นการบูรณาการแผนงาน โครงการให้มีความสอดคล้อง เชื่อมโยงกันรวมทั้งการจัดทำงบประมาณเชิงบูรณาการ สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาภาคเหนือ คือ “ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งดำรงเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากส่วนกลาง ศึกษาธิการภาค 6 ภาค และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางบริหารจัดการศึกษาของภาคเหนือแล้ว ยังได้รับทราบในส่วนของขอบเขตบทบาท อำนาจหน้าที่ของการปฏิบัติ การกำกับติดตาม

รวมทั้งศึกษาธิการทั้ง 5 ภาค (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน) จะได้นำแนวทางการบูรณาการของภาคเหนือไปต่อยอดเป็นรูปแบบขั้นตอนที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาในส่วนภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างหลากหลายและเป็นรูปธรรมต่อไป 

ร่วมแสดงความคิดเห็น