ศึกษาเอกชนเชียงใหม่เหนื่อย เด็กลดรอปิดตัว เหตุแย่งเรียนที่ดังหันมุ่งสายอาชีพ

ผู้บริหารสถานศึกษาเอกชน ในเชียงใหม่ กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลของระดับนโยบาย ตลอดจนการนำเสนอตัวเลข นักเรียน นักศึกษา ในที่ประชุมต่างๆทั้งเครือข่ายสถานศึกษาภาครัฐฯ และภาคเอกชน รวมถึงที่ประชุมอธิการบดี มีข้อมูลตรงกันว่า จำนวนผู้เข้าเรียนลดลง เด็กๆในต่างจังหวัด หันไปเรียนต่อในสายอาชีวะ สายอาชีพมากกว่าเดิม นโยบายด้านการศึกษาไทยที่มุ่งดึงเด็กสู่สายอาชีวะ ร้อยละ 60 สายสามัญได้ผลดีเกินคาด

อดีตอธิการบดี ม.ดังในเชียงใหม่ เล่าว่า แทบไม่น่าเชื่อว่าตัวเลขการสมัครในระบบคัดเลือกกลาง เข้าเรียนระดับอุดมศึกษา จากที่นั่ง ร่วม 4 แสน หายไป 1 ใน 3 ลดกว่า ร้อยละ 15 จากระบบ

เท่าที่พูดคุยกับระดับอธิการบดี มหาวิทยาลัยหลายๆแห่ง ส่วนหนึ่งมองว่า หลักสูตรเน้นการตลาดมากไป บางคณะ แห่เรียน ค่าเทอม เป็นแสน เป็นล้านจบมา หางานทำยาก รุ่นหลังๆเลยไม่อยากเข้ามาเรียนแล้ว ประกอบกับเงื่อนไข ทางเลือกที่แต่ละแห่งนำเสนอ ผ่านกิจ กรรม ตลาดการศึกษา พูดเข้าใจง่ายๆคือหาคนมาเรียนในสถาบัน มีลด แลก แจก แถม จนลดทอนความอยากที่จะเข้ามาเรียน ถ้าไม่ดัง เด่นจริงๆ บางสาขาแทบเปิดการเรียน การสอนไม่ได้

กรณีที่สถานศึกษาเอกชน จะหันไปจับตลาดนักศึกษาต่างชาติ เฉพาะเชียงใหม่ที่เคยมีกระแสทุนจีนจะเข้ามาเทคโอเว่อร์บางแห่ง ก็เงียบหายไป ที่เข้ามาเรียน เป็นโครงการแลกเปลี่ยน สร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีในแวดวงวิชาการเท่านั้น ผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพจริงๆคือต้องผลิตบัณฑิต ผู้เรียนที่สามารถเอาตัวรอดได้ ในความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ได้แค่วุฒิการศึกษา ออกมาแล้วตกงานกันปีละเป็นแสน

ด้านอาจารย์ ร.ร.เอกชน แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาพบุคลากรทางการศึกษาทั้งเอกชน และภาครัฐฯ ไม่มีความมั่นคงเหมือนก่อน บางแห่งรอปิดตัว ขึ้นอยู่กับตลาด จำนวนผู้เรียน มีเงื่อนไขสัญญาจ้าง เมื่อหมดภาระงานหรือปิดหลักสูตร ไม่มีการเรียน การสอนเลิกจ้างได้ทันที น่าเห็นใจบุคลากรทางการศึกษา ที่อายุมากก็ต้องตกงาน พอๆกับผู้เรียนเช่นกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น