หนักเค็ม! ทำให้ไตพัง เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

หลายคนมักจะคุ้นชินกับประโยคที่ว่า “กินเค็มมากๆ จะเป็นโรคไต” การกินเค็มและเกลือมากเกินไป จะทำให้เกิดโรคได้หลายโรค ไม่เพียงเฉพาะแค่โรคไตเท่านั้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เส้นเลือดในสมองแตก ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาพาคุณไปหาคำตอบว่ากินเค็มอย่างไรทำไมถึงเกิดโรค

ไตมีความสำคัญอย่างไร ?

“ไต” เป็นอวัยวะภายใน อยู่ตรงช่วงเอว ทำหน้าที่ กรองของเสียรวมทั้งโซเดียม ที่เป็นส่วนเกินออกทางปัสสาวะ

กินเค็มเกี่ยวข้องอย่างไรกับไต ?

การกินเค็ม หรือกินเกลือหวาน และเกลือจืดมาก ทำให้ไตต้องทำงานหนัก เพราะต้องขับโซเดียมส่วนเกินออก เมื่อไตต้องทำงานหนักเข้ามาก ๆ ไตก็เสื่อม ทำให้กรองและขับของเสียออกมาทางปัสสาวะได้น้อยลง คนไข้จึงมีอาการตัวบวม ถ้าไตวายหมอก็ต้องใช้เครื่องฟอกเลือดล้างไตช่วยคนไข้ ไม่เช่นนั้นคนไข้จะเสียชีวิตได้
ดังนั้น การกินเค็ม กินเกลือมาก จึงทำให้เป็นโรคไต

พฤติกรรมการเติมเค็ม

การบริโภคเกลือปริมาณมาก มีการเติมเกลือหรือน้ำปลา ในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม โดยเฉพาะคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเกลือสูงถึง 2 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ และผลเสียที่ติดตามมากับอาหารเค็มก็คือ “โซเดียม” สูง ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ส่งผลเสียทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังส่งผลเสียต่อไตโดยตรง


โรคไตทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน
ในปัจจุบันประชากรไทยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน โดยส่วนมากเป็นโรคไตระยะเริ่มต้น ซึ่งถ้า “ความดันโลหิตสูง” ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น หัวใจวาย อัมพาต และความเสื่อมจากการทำงานของไต นำไปสู่ภาวะไตวาย หลักสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเหล่านี้คือ ควบคุมความดันโลหิต รักษาเบาหวาน รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือด

ลดเค็มเพื่อรักษาไต
การลดปริมาณโซเดียมในอาหารที่รับประทาน โดยการ
• หลีกเลี่ยงการใช้เกลือในการปรุงอาหาร
• เลือกเติมเครื่องปรุงให้โซเดียมไม่เกินปริมาณที่กำหนด
• การเลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยำ ให้รสหวาน เปรี้ยว หรือ เผ็ด เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ
• หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม ไม่เติมผงชูรส รับประทานน้ำซุปต่างๆ แต่น้อย
• ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของอาหารสำเร็จรูป

อาหารเค็มและอาหารที่มีโซเดียมสูงถือเป็นภัยเงียบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทย นั้นปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดความเคยชินแล้ว ลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไป เราจึงมาสร้างนิสัยกินจืดอย่างถูกวิธีกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ และเพื่อสุขภาพที่ดีตามมาด้วย

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น