ตามฮอยฮีต “คนเมือง” จากประเพณี 12 เดือน

หากจะกล่าวถึงกลุ่มชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยนั้น มีกำเนิดความเป็นมาทางการเมืองและวัฒนธรรมร่วมกับไทยใหญ่ ลาวและชนชาวไทยในภาคกลาง ปัจจุบันชาวไทยในภาคเหนือหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ไทยยวน” หรือ “คนเมือง” มีการผสมผสานทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณีมาเป็นเวลานาน มีลักษณะเด่นจากการนับถือศาสนาและเชื่อถือในจารีตประเพณีรวมทั้งการเกษตร ดังจะเห็นได้จากในแต่ละเดือนจะมีประเพณีแตกต่างกันไปซึ่งในการนับวัน เดือน ปีของชาวไทยล้านนาจะแตกต่างไปจากทางภาคกลางคือ

เดือนที่ 1 เดือนเกี๋ยง (ตุลาคม) มีประเพณีออกพรรษา สลากภัต (ตานก๋วยสลาก)
เดือนที่ 2 เดือนยี่ (พฤศจิกายน) มีประเพณีลอยกระทง (ยี่เป็ง) ทอดผ้าป่า ตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติ
เดือนที่ 3 เดือนอ้าย (ธันวาคม) มีประเพณีเทศน์มหาชาติ แต่งงาน ฮ้องขวัญข้าว
เดือนที่ 4 เดือนสี่ (มกราคม) มีประเพณีทานข้าวใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ทานหลัวพระเจ้า
เดือนที่ 5 เดือนห้า (กุมภาพันธ์) มีประเพณีปอยหลวง ตั้งชานหลวง
เดือนที่ 6 เดือนหก (มีนาคม) มีประเพณีทำบุญปอยน้อย บวชเณร ขึ้นพระธาตุ สมโภชน์พระพุทธรูป
เดือนที่ 7 เดือนเจ็ด (เมษายน) มีประเพณีปี๋ใหม่เมืองหรือสงกรานต์ ประเพณีดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ บวชลูกแก้ว เลี้ยงผีปู่ย่า พิธีสู่ขวัญ สืบชะตาบ้านเมือง
เดือนที่ 8 เดือนแปด (พฤษภาคม) มีประเพณีบวชเณร วิสาขบูชา ไหว้พระธาตุ เข้าอินทขิล
เดือนที่ 9 เดือนเก้า (มิถุนายน) มีประเพณีไหว้พระธาตุ
เดือนที่ 10 เดือนสิบ (กรกฏาคม) มีประเพณีเข้าพรรษา
เดือนที่ 11 เดือนสิบเอ็ด (สิงหาคม) มีประเพณีตานข้าวคนเฒ่าจำศีล
เดือนที่ 12 เดือนสิบสอง (กันยายน) มีประเพณีตานสลากภัตจาคะข้าว (อุทิศถึงผู้ตาย)

สำหรับประเพณีทางภาคเหนือนั้น มักจะเกี่ยวข้องกับอาชีพของชุมชนเป็นส่วนใหญ่และมีประเพณีมากมายถึง 42 ประเพณี แต่จะกล่าวถึงเฉพาะประเพณีที่น่าสนใจและมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน

ประเพณีปอยหลวง เป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของล้านนาไทยที่ได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จัดได้ว่าเป็นลักษณะของการสืบทอดทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์วิทยา กล่าวคือ เมือ่ได้มีการจัดสร้างหรือบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารโบราณสถานในท้องถิ่นจนสำเร็จลุล่วงดีแล้ว ทางฝ่ายสงฆ์และฆราวาสจะได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้น นับว่าเป็นการร่วมกันแสดงความยินดีที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันสละทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกายสร้างศาสนาสถานสมบัติ คนล้านนาให้ความหมายของคำว่า “ปอยหลวง” ไว้คือ คำว่า “ปอย” คืองานเฉลิมฉลองรื่นเริงที่เป็นประเพณี “หลวง” หมายถึงยิ่งใหญ่ ดังนั้นคำว่า “ปอยหลวง” คืองานเฉลิมฉลองริ่นเริงที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง

ประเพณีสืบชะตา เป็นพิธีกรรมที่นิยมทำในโอกาสต่าง ๆ เพื่อต่อดวงชะตาให้ยืนยาวสืบไปอีก พิธีนี้เป็นพิธีใหญ่ที่ต้องอาศัยคนและเครื่องประกอบพิธีมากที่สุดพิธีหนึ่ง แต่อาจจัดร่วมกับพิธีอื่นได้ โดยการจัดพิธีขึ้นเพื่อสืบชะตาให้แก่คนทั้งที่ฆราวาสและภิกษุหรืออาจจะสืบชะตาให้แก่หมู่บ้าน เมืองหรือยุ้งข้าวก็ได้

ประเพณีการทานข้าวสลาก คนล้านนาเรียกว่า “กิ๋นก๋วยสลาก” หมายถึงการจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ทั้งอุปโภค บริโภคถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยเริ่มในราววันเพ็ญเดือน 12 (เหนือ) และสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 3)

ประเพณีเข้าอินทขิล เป็นการบูชาสักการะเสาหลักเมือง คำว่า “อินทขิล” หมายถึงเสาหรือหลักหน้าประตูเมือง เสาเขื่อน ซึ่งเสาหลักเมืองอินทขิลของเชียงใหม่นี้ ตั้งอยู่ภายในวัดเจดีย์หลวง เมื่อถึงวันขึ้น 13 – 15 ค่ำเดือน 8 ก็จะมีพิธีบูชาเสาหลักเมืองหรือเสาอินทขิลทุกปี

ประเพณียี่เป็ง หรือเทศกาลลอยกระทง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวปีละหลายหมื่นคน สีสันความสนุกสนานของประเพณียี่เป็งอยู่ที่ขบวนแห่และการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ แม้ว่าปัจจุบันพิธีการดังกล่าวอาจเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ทว่าในพิธีนี้ดังยังอนุรักษ์สานต่อความเป็นวัฒนธรรมของคนเมืองได้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะการนำโคมไฟมาประดับไว้ตามบ้านเรือน อันถือเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ประเพณีนี้จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันขึ้น 13-15 ค่ำเดือนยี่ (เหนือ)

ประเพณีสงกรานต์และรดน้ำดำหัว เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่โบราณกาลว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ โดยนับเริ่มตั้งแต่วันที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ ในเดือนเมษายน ส่วนประเพณีดำหัวเป็นการเอาลูกหลานญาติพี่น้องไปแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อผู้สูงอายุเพื่อขอขมาลงโทษในความผิดพลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาและขอรับพร

นอกจากในเชียงใหม่จะมีประเพณีเก่าแก่ที่สำคัญอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โบราณสถานโบราณวัตถุตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้

กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญคือ วัดเก่าแก่ต่าง ๆ รวม 86 แห่ง ประตูเมือง แนวกำแพงดินเก่าแก่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ค้นพบในเชียงใหม่ และย่านที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเที่ยวกันมากที่สุดคือ ถนนช้างม่อย ถนนท่าแพ ตลาดวโรรส ถนนพระปกเกล้า ศูนย์สินค้าพื้นเมือง(ไนท์บาร์ซ่า) ศูนย์วิจัยชาวเขา ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เป็นต้น

กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวดอยสุเทพ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพแบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบกันคือ ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอย่างหนึ่งประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญดังนี้ วัดพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ บ้านแม้วดอยปุย บ้านแม้วดอยดอยช่างเคี่ยน สวนสัตว์เชียงใหม่ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกแม่สา อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางเหนือตามเส้นทางเชียงใหม่ – ฝาง ประมาณ 16 กิโลเมตรแล้วแยกเข้าทางแม่ริม – สะเมิง แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในกลุ่มนี้คือ พิพิธภัณฑ์กล้วยไม้ น้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก ปางช้างแม่สา หมู่บ้านแม้วแม่สาใหม่ ไร่กาแฟและรีสอร์ทต่าง ๆ เป็นต้น

ด้วยความหลากหลายทางเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ทั้งมีประเพณีที่เก่าแก่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง เหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวฝันใฝ่ที่จะเดินทางเข้ามาสัมผัสบรรยากาศของความเป็นเมืองเหนืออย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งคนในท้องถิ่นยังมีรอยยิ้มและน้ำใจที่ดีงามให้กับนักท่องเที่ยว นี่จึงเป็นมนต์เสน่ห์ของเชียงใหม่ที่ตราตรึงใจนักท่องเที่ยวอยู่อย่างมิรู้ลืม.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น