ผจญผืนป่าจูราสสิค เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ดอยอินทนนท์

บนดอยอินทนนท์ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ที่คนนิยมไปเดิน อยู่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา และเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน สองเส้นทางนี้มีระยะทางที่แตกต่างกันพอสมควร อ่างกาเป็นเส้นทางสั้น ๆ ใช้เวลา 30-60 นาที ส่วนเส้นทางกิ่วแม่ปานใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพามาศึกษาธรรมชาติกันที่ ”อ่างกาหลวง” สถานที่อันเต็มไปด้วยผืนป่า

ที่ตั้งของเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา
อยู่บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ถ้าเริ่มต้นจากยอดดอย ให้เดินมาทางป้ายสูงสุดแดนสยาม ผ่านสถูปเจ้าอินทวิชยานนท์ เดินมาจนถึงทางออก ฝั่งตรงข้ามจะเป็นทางเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา

รู้จักกับอ่างกา
“อ่างกา” เป็นแอ่งน้ำขนาดสิบกว่าไร่ อยู่บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ที่มาของชื่อ “อ่างกา” มีอยู่ประมาณ 3 ที่มา เช่นมีหินคล้ายรูปกาอยู่บริเวณนี้, ในสมัยก่อนเคยมีอีกามาเล่นน้ำบริเวณแอ่งน้ำ, และสุดท้าย เพี้ยนมาจากคำว่า “อั่งกา” เป็นภาษาชาวเขาที่แปลว่าภูเขาใหญ่
ระบบนิเวศน์ของอ่างกาเป็นระบบนิเวศน์ที่ไม่เหมือนที่ไหน เนื่องจากอยู่บนที่สูงกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี มีหมอกปกคลุมตลอด อุณหภูมิเฉลี่ย 12 องศา มีความชื้นสูง พืชที่อยู่ในบริเวณนี้ก็จะมีพืชที่หาชมได้ยากอยู่มากมาย อย่างเช่น ข้าวตอกฤาษี กุหลาบพันปี และบนต้นไม้ใหญ่จะถูกปกคลุมไปด้วยมอส เฟิร์น จนแทบหาที่ว่างตามกิ่งไม้ไม่ได้

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา
ก่อนที่จะเข้าไปในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แนะนำให้ดูแผนที่ด้านหน้าทางเข้าก่อน เส้นทางนี้มีลักษณะเป็นวงกลม มีเพียงเส้นทางไปศาลเจ้ากรมเกียรติ์ที่แยกออกไปแล้วต้องเดินกลับมาทางเดิม ระยะทางโดยรวมของเส้นทางนี้อยู่ที่ประมาณ 300-400 เมตร เส้นทางนี้ถูกสำรวจวางแนวและออกแบบเส้นทางเดินโดย คุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยา และอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เป็นเส้นทางที่เดินง่าย ระยะทางสั้น ๆ พื้นที่ทางราบ ไม่อันตราย

หลังจากที่เราได้รู้จักกับอ่างกากันไปแล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะมาศึกษาธรรมชาติกัน ทันทีที่เข้าไปในอ่างกา จะรู้สึกได้ถึงอากาศที่เย็น และชื้นกว่าบริเวณด้านนอก มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมจนแสงแดดส่องไม่ถึงพื้น ทางเดินช่วงแรกนั้นเป็นพื้นดินธรรมดา ถ้าเลยตรงนี้ไปจะเป็นทางเดินไม้ยกระดับ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนธรรมชาติจนเกินไป เราจำเป็นต้องเดินตามเส้นทาง

ช่วงที่ควรไปนั้นเป็นต้นเดือนตุลาคม ช่วงปลายฝน ต้นไม้ดูเขียว อุดมสมบูรณ์ อากาศเย็นสบาย ไม่หนาวมาก เดินเข้าไปไม่ไกลก็จะเจอกับ “ข้าวตอกฤาษี” เป็นพืชจำพวกมอส แต่มีขนาดใหญ่กว่ามอสทั่วไป หาดูได้ยากมาก เพราะจะเจริญได้ดีในระดับความสูง 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ในที่มีความชื้นสูง ซึ่งถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาทึบ ชอบอยู่ตามหุบเขาที่แสงส่องลงไปไม่ถึง

รู้จักกับพืช
“ข้าวตอกฤาษี” ช่อมีขนาดประมาณหัวนิ้วโป้ง ขึ้นปกคลุมตามพื้นดิน ใต้ต้นไม้ใหญ่ ในอดีต ข้าวตอกฤาษี เคยมีจำนวนลดลง เพราะมีการสูบน้ำบริเวณอ่างกาไปใช้ประโยชน์ ทำให้น้ำแห้งลงอย่างมาก ระบบนิเวศน์เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบันมีการใช้น้ำจากอ่างกาลดลง ข้าวตอกฤาษีก็เริ่มจะมีมากขึ้น

“ต้นกุหลาบพันปี” เป็นพืชที่แตกต่างกับกุหลาบพันธุ์ทั่วไป ชอบขึ้นในที่ ๆ มีสภาพอากาศหนาวเย็นและชื้น ตามบริเวณผาหิน มีหน้าดินน้อย คนท้องถิ่นเรียกกุหลาบพันปีชนิดที่มีดอกสีแดงว่า “คำแดง” พันธุ์นี้พบที่ดอยอินทนนท์ที่เดียวเท่านั้น ลักษณะลำต้นของกุหลาบพันปี เป็นต้นไม้พุ่มขนาดกลาง มีทั้งพันธุ์ดอกสีขาว และดอกสีแดง จะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์

จุดชมวิวที่อ่างกา
เราสามารถชมอ่างกาได้อย่าง 360 องศา จากจุดชมวิวอ่างกา มีทางเดินยื่นเข้าไปในป่า ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ และธรรมชาติ เส้นทางบางช่วงจะเป็นทางเดินคล้ายอุโมงค์ต้นไม้ ด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งมีชีวิตที่อ่างกาจึงไม่ได้มีแต่ต้นไม้ ยังมีนกป่า นกหายากหลายชนิด จากการสำรวจที่นี่มีนกถึง 385 ชนิด จาก 978 ชนิดที่พบในประเทศไทย ถือว่าเป็นแหล่งดูนกที่ดีแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถ้าอยากจะได้รูปนกกลับไป ต้องรอด้วยความใจเย็น หูต้องฟังเสียงนกร้อง ตาต้องมองหาตามแหล่งเสียง การเดินสำรวจธรรมชาติ ควรหยุดพักเป็นจุด ๆ เพื่อสำรวจต้นไม้ พืชพรรณรอบตัว และอ่านป้ายให้ความรู้ตามจุดต่าง ๆ

หากเดินมาถึงจุดที่ 10 จะมีทางแยกไปศาลเจ้ากรมเกียรติ์ เส้นทางนี้ไม่ได้อยู่ในวงกลมจะต้องย้อนออกมาทางเดิม แต่ก็เป็นเส้นทางสั้น ๆ แนะนำให้เดินเข้าไปค่ะ

“ศาลเจ้ากรมเกียรติ์” ศาลนี้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่ พล.อ.อ เกียรติ์ มังคละพฤกษ์ และ นายนิพนธิ์ บุญทรารมณ์ ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพอากาศ และประเทศชาติ ซึ่งประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกจนทำให้เสียชีวิต ณ ที่นี้ เส้นทางเดินจากศาลเจ้ากรมเกียรติ์ไปยังเส้นทางวงกลม มีขั้นบันไดนิดหน่อย และลำธารเล็ก ๆ ที่หล่อเลี้ยง ให้ความชุ่มชื้นในอ่างกา

เดินไม่นานก็จะเจอกับทางออก เป็นจุดข้าง ๆ กับทางเข้า รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 40 นาที ซึ่งตลอดการเดินระหว่างทางก็จะได้เจอกับต้นไม้เขียว ๆ ฟังเสียงนกร้อง อากาศเย็นสบาย แนะนำว่าถ้าใครที่มีโอกาสไปดอยอินทนนท์ ไม่ควรพลาดเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาแห่งนี้เลยค่ะ

สรุป
หากใครที่สนใจในการศึกษาธรรมชาติ เดินเข้าไปจะรู้สึกราวกับหลุดออกจากมิติเวลาข้ามฝั่งมายังโลกดึกดำบรรพ์เลยค่ะ เราขอแนะนำ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา” แห่งนี้ เพื่อศึกษาดูธรรมชาติที่สวยงามกันนะคะ

ภาพจาก : Emagtarvel
ข้อมูลจาก : Emagtarvel
เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น