ธ สถิตมิ่งขวัญ ชาว มช.

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสมอมานับตั้งแต่ได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2508 แล้ว ในทุกๆปีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังได้ทรงมีพระเมตตา แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเสด็จพระราชดำเนินในพิธีพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ ปริญญาบัตร แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ หากในปีใดทรงมีพระราชภารกิจ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แก่ เหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษาเก่าและนักศึกษาปัจจุ บันอย่างหาที่สุดมิได้

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2507 ตามนโยบายของรัฐและเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่น และประเทศชาติโดยส่วนรวม ตามกระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้เป็นพระปฐมพระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2508 ความตอนหนึ่งว่า

“เวลานี้ เรากำลังต้องการคนดีมีปัญญา และมีความรอบรู้ในด้านต่างๆ มาเป็นกำลังทำนุบำรุงบ้านมืองเป็นจำนวนมาก และยังจะต้องการเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นลำดับในวันข้างหน้า เพราะเราจำเป็นต้องทำความเจริญให้แก่ประเทศและประชาชนให้ทั่วถึง ต้องอาศัยสติปัญญา ความสามารถของผู้มีการศึกษาชั้นสูงเป็นสำคัญ และเมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มต้นดีแล้ว ขอให้พยายามดำเนินกิจการให้ก้าวหน้าต่อไป ให้ได้ผลสมกับความเพียรพยายามที่จะก่อตั้ง และสมกับความสามารถที่ได้ตั้งไว้” พระบรมราโชวาทนี้ สอดคล้องกับปณิธานของมหาวิท ยาลัย

พระองค์เสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งแรก วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2509 จนถึงครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2542 โดยบัณฑิตคนสุดท้ายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และถือเป็นบัณฑิตคนสุดท้ายของประเทศ ไทย ที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ นายเอกอนันต์ ยาโน รหัส 3715222 คณะบริหารธุรกิจ บัณฑิตระดับปริญญาตรี

ร่วมแสดงความคิดเห็น