กว่าจะมาเป็น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันนี้

“เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย”
“เพื่อศักดิ์ศรีของคนเมือง เราต้องมีมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย”
“จงสู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย”

ถ้อยคำเหล่านี้ ล้วนบ่งบอกถึงการเรียกร้องของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นทั้งสิ้น หากจะกล่าวไปแล้วความคิดในการขยายการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ออกสู้ภูมิภาคมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2484 ในสมัยของพ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และมี น.อ.หลวงสินธุสงครามชัย เป็น รมว.ศึก ษาธิการ โดยได้เชิญ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ผอ.โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในขณะนั้นไปปรึกษา เรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค แต่ในที่สุดก็ต้องหยุดชะงักไป เพราะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา

ต่อมาได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อสงครามเสร็จสิ้นลง กล่าวคือเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2493 นายทองดี อิสราชีวิน ส.ส.เชียงใหม่ ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรื่องมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงใหม่ กระทู้ดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลพิจารณาขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกไป สู่ภูมิภาคตามที่เคยดำริไว้แต่เดิม ซึ่งสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของประชาชนชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นคือ “หนังสือพิมพ์คนเมือง” ซึ่งมี นายสงัด บรรจงศิลป์ เป็นบรรณาธิการ ได้เสนอข่าวการตั้งกระทู้ถามของ นายทองดี อิสราชีวิน เรื่องมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียง ใหม่ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนั้นด้วย

เหตุการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้นตามลำดับ เมื่อหนังสือพิมพ์คนเมือง ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ได้เริ่มต้นรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือขึ้น และนับตั้งแต่ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน – 24 กรกฎาคม พ.ศ.2496 รวม 8 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน ผ่านทาง “บทนำ” และคอลัมน์ “ออกข่วง” ซึ่งตั้งหัวข้ออภิปรายเรื่อง “ ควรตั้งมหาวิทยาลัยภาคเหนือหรือไม่?” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

ข้อคิดเห็นส่วนใหญ่ ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ทั้งสิ้น เช่น ให้เหตุผลว่า “…..เป็นการเผยแพร่ศีลธรรม วัฒนธรรม และจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นลานนาไทย…..เชียงใหม่เป็นนครที่ใหญ่กว้างขวาง ภูมิประเทศเหมาะแก่การจะเป็นเมืองมหาวิทยาลัยมาก ทั้งอากาศก็สบาย การคมนาคม การสาธารณูปโภคก็สะดวกสมบูรณ์….”

ไม่เพียงแค่การเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ของหนังสือพิมพ์คนเมืองเท่านั้น ประการสำคัญได้มีการพิมพ์บัตรวงกลมสีแดงเข้ม บัตรแสตมป์สีแดงเข้ม และบัตรห่วงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งล้วนแต่พิมพ์ข้อความที่เป็นการเรียกร้อง ให้มีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น โดยสิ่งเหล่านี้ได้แจกจ่ายเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนทั้งในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง รวมทั้งเผยแพร่ไปทั่วประเทศ

อาจกล่าวได้ว่า นอกจากหนังสือพิมพ์คนเมือง จะเป็นหลักในการเรียกร้องมหาวิทยาลัยแล้ว หนังสือพิมพ์คนเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ และหนังสือพิมพ์ไทยล้านนาของจังหวัดลำปาง ก็มีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยการเป็นสื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น รวมทั้งการราย งานข่าวความเคลื่อนไหวของการเรียกร้องบัตรห่วง แสตมป์ และป้ายวงกลมการเรียกร้องมหาวิทยาลัย

ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้เรียกร้อง ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้ตั้งมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคผ่านคอลัมน์ “ออกข่วง” ของหนังสือ พิมพ์คนเมือง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และได้โฆษณาเผยแพร่ข้อความเรียกร้องในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ด้วย เช่น “จงสู้จนสุดใจขาดดิ้น เพื่อมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย” และ “เพื่อศักดิ์ศรีของคนเมือง เราต้องมีมหาวิทยาลัยแห่งลานนาไทย” เป็นต้น นอกจากการรณรงค์ผ่านบทความและข้อความโฆษณาแล้ว หนังสือพิมพ์คนเมือง ยังได้พิมพ์บัตรต่าง ๆ เพื่อแจกจ่าย นักเรียนและประชาชน ดังต่อไปนี้

-บัตรแสตมป์สีแดงเข้ม มีข้อความเขียนไว้ว่า “เราต้องการมหาวิทยาลัยประจำลานนาไทย” มีวัตถุประสงค์ให้นำไปติดไปกับซองจดหมาย คู่กับดวงตราไปรษณีย์หรือปิดบนเอกสารคู่ไปกับอากรแสตมป์และติดทั่ว ๆ ไป ตามแต่ผู้ใช้จะเห็นสมควร เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงความต้องการของชาวเชียงใหม่

-บัตรวงกลมสีแดง มีข้อความเขียนว่า “ในภาคเหนือ เราต้องการ มหาวิทยาลัย โปรดร่วมกันต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งมหาวิทยาลัย ประจำภาคเหนือ”

-บัตรห่วงมหาวิทยาลัย มีข้อความเขียนว่า “ห่วงมหาวิทยาลัย เราประชาชนคนภาคเหนือ มีความเชื่อมั่นว่า การจัดให้มีสถาบันการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยขึ้นในลานนาไทยนั้น เป็นความจำเป็นอย่างรีบด่วน เราเชื่อว่าอนาคตและความวัฒนาสถาพรของลานนาไทยนั้น ขึ้นอยู่กับแรงปณิธานของลูกลานนาไทยทุกคน เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้น ที่จะเป็นแหล่งผลิตปัญญาชนคนลานนา เพื่อออกไปทำประโยชน์ และเป็นผู้นำของลานนาไทยในอนาคต” บัตรนี้มีความประสงค์ ที่จะให้นักเรียนและประชาชนทั้งหลาย ส่งไปถึงญาติมิตรแล้วให้กระจายเพิ่มขึ้นไปทั่วประเทศ

ที่มา : หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ปิ่นมาลา)

ร่วมแสดงความคิดเห็น