ศธภ.15 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ TFE และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการจัดทำสารสนเทศผลการทดสอบ O-NET

วันที่ 24 มกราคม 2562  นายภานุศร สิทธิชัย นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาศึกษาเชี่ยวชาญ รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 15 เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ TFE (Teams For Education) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการจัดทำสารสนเทศผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มีนายไวโรจน์ สิงห์ไตรภพ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 กล่าวรายงาน ณ ห้องปารีส โรงแรมเมอร์เคียวเชียงใหม่

นายภานุศร สิทธิชัย นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งนักวิชาศึกษาเชี่ยวชาญรักษา การในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 15 กล่าวว่า การดำเนินโครงการ TFE (Teams For Education) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการจัดทำสารสนเทศผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายในแผนงานบูรณาการการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง ที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา ได้มอบหมายให้ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษา โดยเน้นเรื่องการยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับตามหลักสูตรและส่งเสริมความสามารถด้านเทคโนโยลีเพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้

ประกอบกับการกำหนดตัวชี้วัดแนวทางในแผนบูรณาการการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ เท่าเทียมและทั่วถึง คือ ร้อยละของนักเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) มากกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละวิชาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในช่วงหลาย ๆ ปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนในวิชาหลัก 4 วิชา ประกอบด้วย ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จะต่ำกว่าร้อยละ 50 ประกอบกับไทยได้เข้าร่วมโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment : PISA) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพของนักเรียนไทยยังคงตามหลังประเทศต่าง ๆ อยู่อีกมาก

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาคุณภาพเด็กไทยให้มีความพร้อมในการพัฒนาสู่ความเป็นหนึ่ง ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็น ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ไขปัญหา การร่วมมือกันผ่านเครือข่าย การปรับตัว การสร้างสรรค์ การสื่อสารทั้งด้วยการพูดและการเขียนการเข้าถึงและการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารความรู้ ความอยากรู้อยากเห็น และการจินตนาการให้กับเด็กไทยซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ดี เก่ง และมีคุณภาพพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าได้ อย่างเต็มศักยภาพ

โดยกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการแก้ไขปัญหาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน และการเสริมสร้างและยกระดับการพัฒนา ที่ให้ความสำคัญครอบคลุมทั้งในส่วนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างครอบคลุม ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ควบคู่กับการปฏิรูปการเรียนรู้ในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 มีการออกแบบระบบการเรียนรู้ใหม่  การเปลี่ยนบทบาทครู การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการศึกษา และการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถกำกับการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเราสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้เต็มศักยภาพแล้วจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป

นายไวโรจน์ สิงห์ไตรภพ  ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 15  กล่าวว่า สำนักงานศึกษาธิการภาค 15 ได้รับมอบหมายจากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินโครงการ TFE (Teams For Education) ในปีงบประมาณ 2562 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบ/แนวทางการพัฒนานักเรียนที่มีคะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานแต่ละวิชาต่ำกว่าเกณฑ์คะแนน ร้อยละ 50 เพิ่มขึ้น ระดับภาคและระดับจังหวัดในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 15 และเพื่อให้สถานศึกษาในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 15  มีร้อยละของนักเรียนที่คะแนนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานแต่ละวิชาผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้น

ดังนั้น สำนักงานศึกษาธิการภาค 15  จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินโครงการ TFE (Teams For Education) และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการจัดทำสารสนเทศผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงกรอบแนวทางการดำเนินงานให้กับผู้บริหารหรือผู้แทนจากหน่วยงานสังกัดองค์กรหลักในพื้นที่ระดับภาค ตัวแทนผู้บริหารต้นสังกัดของสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรในสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดที่รับผิดชอบดำเนินโครงการในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางและขอบเขตการดำเนินงาน ประเด็นสำคัญที่จะให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการในระดับพื้นที่

ผู้ร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ 34, 35 ผู้แทนจากหน่วยงานสังกัดองค์กรหลักในพื้นที่ระดับภาค ตัวแทนผู้บริหารต้นสังกัดของสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ บุคลากรในสังกัดสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ประมาณ 70 คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น