แผนโอนภารกิจ รพ.สต.ให้ท้องถิ่น ขาดงบ-ล่าช้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ แต่ละจังหวัดได้เน้นย้ำให้ท้องถิ่น เร่งประสานงานติดตามความก้าวหน้าในการถ่ายโอนภารกิจ โรงพยาบาลสร้างสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดปัญหาการเดินทาง คัดกรองผู้ป่วยส่งต่อแยกอาการป่วยไข้พื้นฐาน สั่งจ่ายยาตามเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระจุกตัวตามโรงพยาบาลต่าง ๆ

ทั้งนี้การถ่ายโอน รพ.สต. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ตั้งแต่ปี 2552 ตามนโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขของรัฐฯ ยกระดับสถานีอนามัยเป็น รพ.สต.จากทั้งหมด 9,787 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการได้เพียง 51 แห่ง สำหรับ รพ.สต.ในเชียงใหม่ ทั้ง 25 อำเภอ มีประมาณ 295 แห่ง เช่น อ.ฝางมี 15 แห่ง อาทิ รพ.สต.บ้านแม่งอน, บ้านแม่สูน เป็นต้น อ.จอมทอง เช่น รพ.สต.บ้านแม่เตี๊ยะ, รพ.สต.ดอยอินทนนท์ เป็นต้น ซึ่งบางอำ เภอ มี รพ.ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สันทราย, เมือง อัตราการใช้บริการตาม รพ.สต.ก็ยังมีสูง ในช่วงเกิดโรคตามฤดูกาล เช่น ไข้หวัด

อย่างไรก็ตามในการประชุมของคณะอนุกรรมการบริหาร แผนการกระจายอำนาจให้ อปท. ล่าสุด ชี้แจงว่าน่าจะเริ่มในส่วน อบจ.มากกว่า อปท.รูปแบบอื่นๆ แผนสาธารณสุข (สธ.) กำหนดถ่ายโอน รพ.สต.ให้ อปท.ระยะ 2561-64 ต้องให้ สำนักงบพิจารณาอนุมัติ งบ สนับสนุน อปท. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีค่าตอบแทน มีความก้าวหน้าเช่นเดียวกับข้าราชการส่วนอื่น ๆ การมาทำหน้าที่ใน รพ.สต.จะเป็นไปด้วยความสมัครใจ และบุคลากร สธ.ต้องยินยอมที่จะโอนย้ายมาสังกัด อปท.นั้นๆด้วย

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ในสันทราย เชียงใหม่ เล่าว่า รพ.สต. มีหน้าที่ให้บริการตั้งแต่เกิดจนตาย เดิมเรียกสุขศาลาเปลี่ยนมาเป็นสถานีอนามัย ก่อนยกระดับเป็น รพ.สต. ตั้งแต่ปี 52 มี 3 ขนาด ตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขนาดเล็กประชากรไม่เกิน 3 พันคน มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ขนาดกลางไม่เกิน 6 พันคน มีเจ้าหน้าที่ 7 คน ขนาดใหญ่มากกว่า 6 พันคน มีเจ้าหน้าที่ 9 -10 คน จะทำงานร่วมกับ อสม.ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การถ่ายโอนรพ.สต. ให้ อปท.ติดขัดปัญหาด้านงบ ส่งผลต่อการจ้างบุคลากร ซึ่ง อปท. ขนาดเล็กมีปัญ หามาก

รวมทั้งแรงจูงใจการโอนบุคลากรทางการแพทย์มา เช่น การเบิกจ่ายค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานของ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ด้านทันตะฯ เดือนละ 2 หมื่นบาท ถ้าโอนมาสังกัด อปท. จะไม่ได้ทำให้บุคลากรไม่มีแรงจูงใจมา อีกทั้งพยาบาลปฏิบัติงานใน รพ.สต. นั้นเป็นแค่ตำแหน่งลูกจ้าง จึงเกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ภาระงานมาก ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ส่วนใหญ่มุ่งไปทำงาน รพ.เอกชน ที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า ชาวบ้านก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลตามทางเลือก ที่มีความสามารถจะจ่ายไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น