“ประคบร้อน-ประคบเย็น” ต่างกันอย่างไร? อาการแบบไหนต้องประคบร้อนหรือเย็น

อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เราไม่คาดคิด และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา อาจมีได้ ตั้งแต่การหกล้มแล้วเกิดฟกช้ำของร่างกายส่วนต่าง ๆ ข้อเท้าแพลง กล้ามเนื้อฉีกขาด หรือปะทะกันจนเอ็นยึดหรือฉีกขาด หรือ ข้อเข่าบวมมีเลือดออก เป็นต้น คนทั่วไปนิยมที่จะให้การรักษาเบื้องต้นด้วยการใช้ยาหม่อง หรือครีม นวดทาเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บ

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาบอกอีกหนึ่งวิธีของการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ นั่นก็คือ “การประคบ” ซึ่งการประคบจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ การประคบร้อนและการประคบเย็น โดยการประคบร้อนและการประคบเย็นก็จะมีวิธีการแตกต่างกันออกไป ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

การประคบร้อนคือ ?

ประคบร้อน คือ วิธีช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตในบริเวณที่เกิดอาการเจ็บปวด ตึง หรือเกร็ง เช่น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเส้นเอ็น การประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวให้ดีขึ้นโดยการช่วยให้ผ่อนคลาย เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ หรือฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น

วิธีการประคบร้อน

การประคบร้อน จะเริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง ให้ประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการที่ควรประคบร้อน เช่น ปวดตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง น่อง ปวดประจำเดือน อาจใช้เจลสำหรับประคบร้อนแบบสำเร็จรูป ใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรืออาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ไม่ควรประคบด้วยความร้อนที่มากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ประคบ ไม่ควรประคบนานหรือถี่เกินไป และต้องไม่ประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น จะประคบร้อนได้ก็ต่อเมื่อการอักเสบน้อยลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากไม่มีอาการบวม แดง ร้อน

ข้อดีของการประคบร้อน

ประคบร้อนจะช่วยให้การไหลเวียนโลหิตบริเวณที่ประคบดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดอาการปวดและบวมได้เป็นอย่างดี และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้กล้ามเนื้อและข้อต่อที่ตึงหรือเกร็งคลายตัวลง และยังช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายหรือเกิดความเสียหายให้ดีขึ้นได้อีกด้วย เช่น

  1. อาการปวดข้อหรือข้ออักเสบ วิธีประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืดและช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง อาจทำให้ผู้ป่วยข้ออักเสบสามารถเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น
  2. อาการปวดศีรษะ ใช้วิธีประคบร้อนจะช่วยคลายอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อที่คอ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุของอาการปวดศีรษะ
  3. อาการเคล็ดขัดยอก วิธีประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืดที่เกิดขึ้นภายหลังจากการอักเสบได้เป็นอย่างดี
  4. โรคเอ็นอักเสบเรื้อรัง วิธีประคบร้อนจะช่วยบรรเทาความฝืดหรือเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นภายหลังจากการอักเสบได้
  5. บรรเทาอาการทางดวงตา สามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี
    1. ประคบร้อนแบบแห้ง ด้วยการใช้ผ้าคลุมแผ่นความร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อน เป็นวิธีช่วยให้สามารถประคบลงเป็นบริเวณกว้างได้ดี
    1. ประคบร้อนแบบชื้น ด้วยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นและบีบให้พอหมาดและวางไว้บริเวณที่ต้องการ ซึ่งวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพมากในการช่วยบรรเทาอาการปวด

ประคบเย็นคือ ?

การประคบเย็น เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการปวด บวม และอักเสบ รวมถึงช่วยห้ามเลือดได้ ซึ่งการประคบเย็นเป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่สะดวกและรวดเร็ว เพราะ สามารถหาอุปกรณ์ได้ง่ายจากของใช้ในบ้านอย่างน้ำแข็งในตู้เย็น แต่การประคบเย็น ควรกระทำด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงความเหมาะสม เพราะหากประคบเย็นนานเกินไปหรือบ่อยครั้งเกินไป อาจทำให้ได้รับอันตรายอย่างเนื้อเยื่อผิวตายจากความเย็นได้เช่นกัน

วิธีการประคบเย็น

หากมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บ ควรประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที (ภายใน 24-48 ชั่วโมง) ประคบนาน 20-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง อาการที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเพิ่งมีอาการใหม่ ๆ

อาจใช้เจลสำหรับประคบร้อนเย็นแบบสำเร็จรูปหรือทำถุงน้ำแข็งขึ้นใช้เอง โดยการใช้ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะแล้วเติมน้ำเปล่าผสมน้ำแข็งอย่างละครึ่งลงไปในถุง ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไปโดยการนำมาประคบผิวหนัง ถ้าบริเวณที่มีอาการเป็นบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้า อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็นแทน โดยแช่นานประมาณ 15-20 นาที

ข้อดีของการประคบเย็น

การประคบเย็นเป็นวิธีปฐมพยาบาลที่ใช้ได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นดวงตา หน้าผาก ช่วงหลังส่วนล่าง หรือบริเวณอื่น ๆ ซึ่งการประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการคัน ปวด บวม อักเสบ หรือห้ามเลือดในเบื้องต้นได้ ซึ่งช่วยจัดการกับอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  1. ปวดหัว
  2. มีไข้
  3. โดนแมลงกัดหรือต่อย หรือโดนพิษแมงกะพรุน
  4. มีผื่น หรือผื่นแพ้สารเคมีบางชนิด
  5. ภูมิแพ้ขึ้นตา
  6. ผิวไหม้แดด
  7. เอ็นอักเสบในระยะแรก
  8. กล้ามเนื้อหรือข้อต่อได้รับบาดเจ็บอย่างอาการตึงหรือเคล็ดในระยะแรก
  9. อาการปวดจากโรคเก๊าท์
  10. ริดสีดวงทวาร

อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบ

  • การประคบร้อน
    • ถุงน้ำร้อน
    • เจลร้อน
    • ผ้าขนหนู
  • การประคบเย็น
    • เจลเย็น
    • ถุงน้ำเย็น
    • ขวดน้ำเย็น
ถุงน้ำร้อน
ผ้าขนหนู

ข้อระวังในการประคบร้อนหรือประคบเย็น

ควรหุ้มอุปกรณ์ประคบด้วยปลอก เพื่อไม่ให้ความร้อนหรือความเย็นสัมผัสผิวหนังโดยตรง โดยเฉพาะบริเวณที่มีแผลเปิด โดยห้ามประคบนานเกิน 15-20 นาที/ครั้ง เพราะอาจทำให้ผิวไหม้จากความร้อนหรือเย็น หรือเกิดอาการบาดเจ็บอื่น ๆ ได้

ข้อระวังในการประคบร้อน

1. ไม่ควรประคบร้อน บริเวณที่มีเลือดออก

2.ไม่ควรประคบด้วยความร้อน บริเวณแขน ขา ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ เกิดเป็นแผลติดเชื้อเรื้อรังได้

3. ผู้ป่วยที่เส้นประสาทอักเสบจากโรคเบาหวานหรือภาวะอื่น ๆ รวมไปถึงโรคเรนอด์ (Raynaud Disease) ควรประคบร้อนด้วยความระมัดระวังในบริเวณที่ไร้ความรู้สึก หรือปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้

4. สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบำบัดด้วยความร้อนหรือประคบร้อน

ข้อระวังในการประคบเย็น

1. ไม่ควรประคบเย็น กับผู้ที่มีอาการแพ้หรือไวต่อความเย็นมาก เพราะอาจทำให้เกิดผื่น ลมพิษ บวม หรือความดันโลหิตสูงได้

2. ควรระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องประคบเย็นบริเวณดวงตา เนื่องจากดวงตาอาจได้รับอันตรายจากสารเคมีได้หากผลิตภัณฑ์ประคบเย็นรั่ว

3. ห้ามนอนหลับ ขณะที่ประคบน้ำแข็งอยู่

4. ไม่ควรประคบเย็นในอาการบาดเจ็บที่รุนแรงมาก เพราะร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงมากเกินกว่าที่ความเย็นจะช่วยบรรเทาอาการได้

สรุป

การจะเลือกใช้ความร้อนหรือเย็นนั้นมีข้อที่ต้องพิจารณาเบื้องต้น คือ ถ้าเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลันร่วมกับมีการบวม ควรเลือกใช้ความเย็น เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลงและช่วยลดบวมได้ แต่ถ้าเป็นการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ  มีอาการมานานหรือเรื้อรัง หรือปวดร่วมกับมีอาการตึงกล้ามเนื้อ ควรใช้ความร้อน เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนเลือดดีขึ้นจึงลดอาการปวดและตึงกล้ามเนื้อได้

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น