จ.แม่ฮ่องสอน เร่งพ่นน้ำเมื่อค่าละอองพิษ ค่า PM 2.5 พุ่งพรวดใกล้ขีดอันตราย

จังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งดำเนินการบูรณาการหลายหน่วยงาน เร่งพ่นฝอยละอองน้ำในตัวเมือง หลังพบค่าฝุ่นละอองพิษ ค่า PM 2.5 พุ่งพรวดใกล้แต่ขีดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชน

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 เวลา 13.00 น. พันเอกณรงค์ฤทธิ์ ปาณิกบุตร ผบ.ฉก.ร.7 เปิดเผยว่าได้ มอบหมายให้กำลังพลจิตอาสาพระราชทาน นำรถบรรทุกน้ำ ร่วมกับหน่วย ร้อย.ร.711, ร้อย ตชด.ที่ 336 ปางหมู, ปภ.จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน, ฝ่ายปกครองจังหวัดแม่ฮ่องสอน, องค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง, สถานีดับไฟป่าแม่ฮ่องสอน และประชาชนจิตอาสาในเมืองแม่ฮ่องสอน รวม 100 คน พร้อมด้วยรถบรรทุกน้ำอีกจำนวน 6 คัน ทำการฉีดพ่นฝอยละอองน้ำในอากาศ บริเวณท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน และร่วมกันทำความสะอาดบริเวณผิวถนนในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

การดำเนินการดังกล่าว เป็นแผนที่ได้คุยปรึกษา และประชุมกันในจังหวัด จะมีการจัดชุดจิตอาสานำรถน้ำฉีดพ่น บริเวณเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนในห้วง 03.00-05.00 น.ของ ทุก ๆ วันเพื่อเป็นการช่วยบรรเทา สถานการณ์ฝุ่นละอองในอากาศ โดยมีการคุมเข้ม มาตรการเรื่องฝุ่นละอองของเขตพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ซ่อมถนนพื้นที่ก่อสร้างอาคาร รวมทั้งควบคุมมาตรการชิงเผาในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับค่า PM 2.5 เป็นค่าวัดดัชนีคุณภาพอากาศ สาเหตุที่กรมควบคุมมลพิษไม่นับรวมค่า PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีดังกล่าว เนื่องจากสถานีที่ติดตั้งเครื่องวัด PM 2.5 ยังมีอยู่ไม่เพียงพอ กล่าวคือต้องติดตั้งให้ครบจึงสามารถนำมาคำนวณค่าที่แท้จริงได้ ซึ่งประเทศไทยมีเครื่องวัด PM 2.5 ครั้งแรกเมื่อปี 2554 และมีการติดตั้งเพิ่มเมื่อปีที่ผ่านมาจาก 19 จุด เป็น 25 จุด จากสถานีวัดคุณภาพอากาศในเมืองไทยทั้งหมด 61 จุด 29 จังหวัด

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่ามาตรฐานสากลตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกับการกำหนดค่ามาตรฐานของไทยแตกต่างกัน กล่าวคือ ประเทศไทยกำหนดค่ามาตรฐานของ PM 10 ไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM 2.5 มีค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะค่ามาตรฐานสากลของ PM 10 ไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ PM 2.5 กำหนดไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

กรีนพีซ ได้พยายามชี้ให้เห็นว่าเมืองใหญ่ของประเทศไทย มีปริมาณมลพิษของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ PM 2.5 ในปริมาณที่สูงมาโดยตลอด เปิดเผยข้อมูล ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน PM 2.5 ระหว่างเดือน ม.ค. – มิ.ย. 2560 พบว่าค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่นละออง ขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน สูงสุดคือ จังหวัดขอนแก่น 44 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ จังหวัดสระบุรี 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ถึง 4 เท่า

ร่วมแสดงความคิดเห็น