นักวิจัย มช. แนะให้ความรู้ปัญหาวิกฤตหมอกควัน

นักวิจัย มช. แนะให้ความรู้ปัญหาวิกฤตหมอกควัน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมของทุกปี บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จะต้องเผชิญปัญหาสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าอย่างหนัก พบค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิท ยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบน มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่สภาพภูมิประเทศ เนื่องจากมีการตั้งเมืองอยู่ในแอ่งกระทะ และมีภูเขาล้อมรอบ ปัจจัยที่สองคือปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากอากาศนิ่ง ลมสงบและความกดอากาศสูง ทำให้เอื้ออำนวยต่อการกักตัวของมลพิษ และปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลัก คือ การเผาในที่โล่ง เนื่องจากการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ มักเกิดในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อเพลิงกำลังแห้ง หากมีการเผาจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ปลดปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ

นอกจากนี้ยังพบว่า ความรุนแรงของปัญหาหมอกควัน มีแนวโน้มจะเกิดซ้ำทุกปี เนื่องด้วยปัจจัยหลักที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เนื่องจากยังมีการเผาอย่างต่อเนื่องในภาคการเกษตรรวมไปถึงการเผาในพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ และในเมืองยังมีการคมนา คมอย่างหนาแน่น ปัญหาการปล่อยควันท่อไอเสียของรถ และภาคการขนส่งนั้น นับเป็นปัญหาหลักของการเกิดมลพิษทางอากาศในเมืองเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม มีผลกระทบเกิดขึ้นหลายด้านจากปัญหาหมอกควัน หนึ่งในนั้นคือปัญหาสุข ภาพ เนื่องจากฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการเผา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเผาของเครื่องยนต์หรือการเผาในที่โล่ง จะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ฝุ่นที่มีขนาดเล็กเหล่านี้ สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราได้ โดยที่ไม่สามารถถูกดักจับโดยกลไกการป้องกันของร่างกาย ยิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กมาก จะสามารถเข้าไปได้ลึกในระดับถุงลมปอด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

นอกจากนี้ในฝุ่นขนาดเล็ก จะมีองค์ประกอบทางเคมีอยู่มากมาย หนึ่งในจำนวนนั้นคือสารก่อมะเร็งกลุ่มพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ซึ่งองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา (US.EPA) ได้ประกาศให้เป็นกลุ่มสารที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาวได้ จากการวิจัยพบว่า เมื่อมีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กในอากาศมาก จะมีแนวโน้ม จะมีสารก่อมะเร็งกลุ่มดังกล่าวมากด้วย เนื่องจากสารเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน หรือแม้แต่การเผาชีวะมวล

แนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นคือการป้องกันเบื้องต้น ให้ประชาชนทั่วไปดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง ด้วยการใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเมื่อออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน และอาจจะต้องงดกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้ง ที่จะทำให้เราหายใจเร็วขึ้น และสามารถที่จะสูดฝุ่นเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะต้องทำกันหลายภาคส่วน เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดมลพิษในอากาศ การใช้พลังงานสะอาด การใช้รถสาธารณะ ลดการเผาทั้งภาคเกษตรและการเผาป่า ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาในระยาวอย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ โครงการ “การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ และสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ซึ่งจะเริ่มทำการเก็บตัวอย่างในปี 2562 ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดและเก็บตัวอย่างฝุ่นใน 4 พื้นที่ คือ อำเภอเมือง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยจะทำการเก็บตัวอย่างฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นละเอียดระดับ submicron หรือ ultra-fine เพื่อนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ว่าในฝุ่นนั้นมีสารอันตรายใดบ้าง รวมทั้งทราบถึงตัวบ่งชี้แหล่งกำเนิดของฝุ่นเพื่อจะวิเคราะห์ว่า ฝุ่นที่เจอในอากาศเป็นฝุ่นที่มีแหล่งกำเนิดมาจากที่ไหน เช่น จากการจราจร จากการเผาไหม้ชีวะมวลในที่โล่ง หรือจากหมอกควันข้ามแดน เป็นต้น คาดว่าโครงการวิจัยดังกล่าว จะนำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันวิกฤตการณ์หมอกควันในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น