ลุ้นแผนพัฒนาถนน จากเชียงใหม่สู่แม่ฮ่องสอน

แผนพัฒนาทุกฉบับ ทุกด้าน ย่อมมีผลกระทบเสมอ จะมีมากหรือน้อย อยู่ที่กระบวนการจัดการ และการมีส่วนร่วม ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือนั้นแต่ละจังหวัดจะมีเมืองเอก เมืองรองซึ่งต้องเชื่อมโยง ส่งเสริมกันและกัน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชากรแต่ละหัวเมือง

บรรดาเมืองท่องเที่ยวแถวหน้าในภูมิภาคนั้น กลุ่มภาคเหนือตอนบน 1เฉพาะรายได้ภาคท่องเที่ยวกระจุกตัวในเชียงใหม่มากกว่า 3 จังหวัดในกลุ่ม โดยแม่ฮ่องสอนอยู่ที่ 4 พันกว่าล้านบาทต่อปี ลำปางและลำพูน แห่งละ 3 พันล้านบาท ส่วนเชียงใหม่ จ่อทะลุแสนล้านปีนี้ ดังนั้น การจัดการ อุปสรรค สร้างโอกาสเพิ่มเติม ด้วยเครือข่าย คมนาคม ขนส่ง เพื่อดึงดูดภาคการลงทุนเข้าไปสู่ แม่ฮ่องสอน จึงเป็นแผนพัฒนาลำดับต้นๆทุกปีงบประมาณ ทั้งนี้เส้นทางคมนาคมจากเชียงใหม่หรือจังหวัดต่างๆสู่แม่ฮ่องสอนมี 2แบบคือรถยนต์ กับเครื่องบินที่นิยมกันมากจะเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์

เส้นทางเข้าสู่แม่ฮ่องสอนมีมากกว่า 10 เส้นทาง โดย ทล.108 หรือ เส้นทางเกียรติยศปรากฎผู้พิชิต 1,864 โค้ง เป็นเส้นทางดั้งเดิม ผ่าน อ.แม่สะเรียง,แม่ลาน้อย,ขุนยวม,แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 351.5 กม.ใช้เวลาราวๆ 6-8 ชม. การประชุมครม.สัญจร เมื่อต้นปีนี้ได้กำหนดแผนศึกษาสำรวจขยายช่องทางเป็น 4 ช่องจราจร เช่นเดียวกัน สาย 1095 ถ้าเริ่มต้นที่กม.35 อ.แม่แตง เชียงใหม่ ไปอ.ปาย ผ่านปางมะผ้าถึงเมืองแม่ฮ่องสอน ระยะทาง 247 กม.ใช้เวลา 4-6 ชม.ในการพิชิต2,072 โค้ง ซึงมีงบ 6 พันล้านบาท รอขยาย 4 ช่องจราจรจาก อ.แม่แตงถึง อ.ปาย ในปี 2564

จริงๆแล้ว การเดินทางจากเชียงใหม่ สู่แม่ฮ่องสอน มีมากกว่า 10 เส้นทาง หากเริ่มที่จอมทอง-อินทนนท์ จะมีทางแยกเข้าสู่ อ.แม่แจ่ม,ขุนยวม,แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 265.5กม. ใช้เวลา 6-7 ชม. นอกจากนั้นก็จะมีเส้นทาง 106 จากอำเภอเถิน,ลี้,ดอยเต่า,ฮอด,แม่สะเรียง,แม่ลาน้อย,ขุนยวม,แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 403 กม. ใช้เวลา 8-10 ชม.

เส้นทางจากแยกดอยติ เมืองลำพูน ไปตามทาง 116 -สันป่าตอง-ดอยหล่อ-จอมทอง-ฮอด-แม่สะเรียง-แม่สะเรียง,แม่ลาน้อย,ขุนยวม,แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 349 กม. ใช้เวลา 8-10 ชม. เส้นทางออฟโรด จาก อ.หางดง,สะเมิง,วัดจันทร์,ห้วยปูลิง,แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 220 กม.ใช้เวลา 9-10 ชม.กำลังเป็นอีกทางเลือกที่มีแผนผลักดันพัฒนาเป็นอีกเส้นทางสายหลัก ที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ เสริมสร้างโอกาสต่างๆมากขึ้นในกลุ่มอำเภอทางผ่าน อาจจะเชื่อมเส้นทางอีกสายที่ ผ่านอ.แม่ริม,สะเมิง,วัดจันทร์,ปาย,ปางมะผ้า,แม่ฮ่องสอน ระยะทาง 280 กม. ใช้เวลา 7-9 ชั่วโมง

หากเส้นทางดังกล่าว สามารถพัฒนาจากสภาพถนนลูกรัง เป็นลาดยาง หรือจาก 2ช่องทางสัญจร เป็น 4 ช่องทาง เวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางจะลดลง2-3 ชม. นั่นหมายถึงความสดวกสบาย โอกาสที่แต่ละชุมชน ในทางผ่านจะได้รับ ขณะนี้ภาคธุรกิจ(กรอ.เหนือ1) เร่งประสานแผน ติดตาม ทวงถามความก้าวหน้าการดำเนินการสามารถเร่งรัดบรรจุในแผนแม่บทและงบปี 63-64 ได้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลหน้าคงมีคำตอบที่ชัดเจน

ร่วมแสดงความคิดเห็น