จังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง

จังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง เพื่อนำข้อมูลไปเผยแพร่ในทิศทางเดียวกัน ด้านรองผู้ว่าฯ กำชับให้จัดระเบียบการเผาในป่าสงวนและพื้นที่ทางการเกษตร เผยมีพื้นที่รอเผากว่า 1 แสนไร่

วันนี้ (5 ก.พ. 62) เวลา 14.00 น. ที่ ห้องประชุมที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมชี้แจงตามมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1(เชียงใหม่) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการ และแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อให้สื่อมวลชนได้นำไปเผยแพร่ข้อมูล สาเหตุ และผลกระทบจากการหมอกควันและฝุ่นละอองที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าเป็นวาระของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยได้กำหนดเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเตรียมการและป้องกัน (ระหว่างตุลาคม 2561 – กุมภาพันธ์ 2562) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 ดึงฟืนออกจากไฟ มาตรการการรับมือ (ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562) ซึ่งจะกำหนดเป็นช่วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาด ภายใต้ชื่อ “61 วันไม่เผา ชาวเชียงใหม่ร่วมแรงร่วมใจ ต้านภัยหมอกควันและไฟป่า เพื่อสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี” ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ดึงไฟจากใจคน และมาตรการสร้างความยั่งยืน (ตั้งแต่พฤกษาคม 2562 เป็นต้นไป) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 ควบคุมไฟอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ ขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน นำแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 10 , PM 2.5 และการจัดการขยะมูลฝอย ไร้พลาสติก ไร้โฟม ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปพร้อมกันอีกด้วย

ด้าน นายระพีศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เปิดเผยถึง ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และ AQI (ดัชนีคุณภาพอากาศ ณ ช่วงเวลานั้น) จากเดิมที่วัดคุณภาพอากาศแบบ PM10 เพียงอย่างเดียว โดยประเทศไทยและองค์การอนามัยโลกนั้น กำหนดใช้มาตรฐานค่าความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยแบบ 24 ชั่วโมง (มาตรฐานค่า PM2.5 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และค่าเฉลี่ยแบบรายปี ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดรับรองใช้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง หรือในแบบ Real-time ขณะที่ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทำให้แสดงค่า AQI รวมทั้งแถบสี/คำเตือน สูงกว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นกระแสดังในโซเชียล ทำให้ประชาชนหลายคนสับสน หากสังเกตในช่วงเวลามักจะพุ่งสูงในช่วงเช้าและเย็น ที่มีประชาชนไปรับ-ส่งลูกตามโรงเรียน โดยสาเหตุหลักก็เช่นเดียวกันกับฝุ่นควันจากท่อไอเสียรถยนต์ในกรุงเทพฯ จึงต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่วัดค่า รวมทั้งสถานที่วัดต้องเหมาะสม

สำหรับ ช่องทางที่ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารและสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองได้ทางเว็ปไซด์ Air4Thai.pcd.go.th/webV2 ของกรมควบคุมมลพิษ โดยสามารถตรวจสอบสถานการณ์หมอกควันได้ทั้ง 9 จังหวัดเหนือ หรือทาง Facebook ค้นหาคำว่า “อากาศบ้านเฮา” ซึ่งเป็นช่องทางในการรายงานแจ้งเตือนและคาดการณ์สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือประจำวัน ในส่วนของเว็ปไซด์ www.airvisual.com หรือ http//aqicn.org นั้น ผลการตรวจวัดยังน่าเชื่อถือน้อยกว่าเว็ปไซด์ของกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง และการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศใช้ค่า AQI ของประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ นายคมสัน สุวรรณอำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในช่วงก่อนและหลังกำหนดวันห้ามเผาที่กำหนด ซึ่งในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่กำหนดห้วงเวลาห้ามเผาเด็ดขาดระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562 ภายใต้ชื่อ “61 วันไม่เผา ชาวเชียงใหม่ร่วมแรงร่วมใจ ต้านภัยหมอกควันและไฟป่า เพื่อสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี” โดยเฉพาะในเขตป่าสงวนและพื้นที่ทางการเกษตรที่มีการจัดระเบียบการเผา ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ทางการเกษตรที่ต้องการเผาจำนวนถึง 1 แสนกว่าไร่ รวมทั้งหมด 23 อำเภอ ยกเว้นอำเภอเมืองและสารภี โดยในทุกพื้นที่ต้องแจ้งมาให้ชัดเจนว่าจะเผาในพื้นที่ใดบ้าง และมีเหตุผลอะไรที่ต้องเผา ถ้าไม่มีเหตุผลอันควรก็จะไม่อนุญาตให้เผา ในส่วนพื้นที่ในเขตเมืองได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ขนส่งและจราจรให้ตรวจวัดควันดำของรถยนต์ รวมทั้งใช้มาตรการฉีดพ่นน้ำล้างทำความสะอาดบริเวณพื้นถนนในช่วงเวลา 06.00 – 08.00 น. เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองให้ค่าปริมาณคุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจน การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีลดการเผา มุ่งเน้นผลผลิตทางการเกษตรโดยการแปรรูปให้เกิดประโยชน์ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากซังข้าวโพด ที่จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย แต่ที่สำคัญต้องขอความร่วมมือชาวเชียงใหม่ทุกคน ร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น