ชาวบ้าน นักท่องเที่ยวติง ภูมิทัศน์วัดดังเปลี่ยนความงามลด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีญาติธรรม กลุ่มหนึ่งถวาย พระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 3 ม.และมีการตั้ง ประดิษฐาน บริเวณลานด้านหน้าพระอุโบสถ สถาปัตยกรรมไทใหญ่วัดจองคำและด้านข้างพระเจดีย์ในวัดจองกลาง เมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ 14 กย.2525นั้น

ชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนหนึ่งมองว่า ในอนาคตจะเป็นศาสนวัตถุอีกจุดดึงดูดผู้คน นักท่องเที่ยวเข้าวัดมาชม กราบไหว้บูชา สะท้อนพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่งดงาม แต่บางส่วนติงว่า ที่ตั้งบดบังความยิ่งใหญ่ ทรงคุณค่าทั้งพระวิหาร หลังคาทรงปแราสาท 9 ชั้น พระอุโบสถ และพระเจดีย์วัดจองกลาง ลดความงามลงไป

นายนพดล ภูมิรัตธรรม นักท่องเที่ยววัย 60 ปี พร้อมกลุ่มญาติๆ แสดงความคิดเห็นว่า จากการอ่านประวัติวัดที่เป็นวัดแห่งแรกของแม่ฮ่องสอน สร้างเมื่อปี 2370 ความงดงามของสถาปัตยกรรมวัดจองคำ วัดจองกลาง เป็นเสมือนสัญญลักษณ์วัฒนธรรมของเมือง ไม่ควรจะมีสิ่งแปลกใหม่มาลดทอนความยื่งใหญ่ลง

โดยส่วนตัวไม่กล้าก้าวล่วงฉันทามติ คณะญาติธรรม ผู้เกี่ยวข้องในการจัดถวายเป็นพุทธบูชา แต่มองว่า มีมุมลานสนามหญ้าเยื้องกุฎิสงฆ์น่าจะเหมาะสม อยู่ท่ามกลางแมกไม้ มีความสงบ ไม่เด่น จนบดบังภูมิทัศน์ของวัดที่คุ้นชินตาของผู้คน นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ทั้งนี้จากการสอบถามนักท่องเที่ยวและชาวบ้านส่วนใหญ่แนะว่าควรปรับย้ายที่ประดิษฐานใหม่ ซึ่งสามารถเคลื่อนย้าย ปรับแก้ได้ ฝากสื่อฯเป็นสื่อกลางประสานข้อคิดเห็นสู่ผู้เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สำหรับวัดจองคำ ตั้งอยู่ข้างหนองน้ำ ซึ่งชาวแม่ฮ่องสอนเรียกหนองจองคำ เมื่อมองจากด้านหน้าวัดจองคำจะอยู่ด้านซ้ายมือ ส่วนวัดจองกลางอยู่ทางขวามือ มีความงดงามทางศิลปะไทใหญ่ เป็นจุดศูนย์กลางกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีของชาวเมือง พื้นที่ด้านหน้าวัดเป็นสวนสาธารณะใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆมากมาย

วัดจองกลาง มีพระพุทธสิหิงค์จำลองปิดทอง ส่วนวัดจองคำ มีพระพุทธประธานขนาดใหญ่คือหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่มีผู้คนเดินทางมากราบไหว้เพื่อขอพรให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง เดินทางปลอดภัย มีงานประเพณีนมัสการหลวงพ่อโต ระหว่างกลางเดือน 5 ของทุกปี

พระวิหารหลวงพ่อโตมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไตหรือไทยใหญ่ผสมฝรั่ง อาคารทรงตรีมุข มีผังเป็นรูปตัวแอล หลังคาทรงปราสาท 1 คอ 2 ชาย ตามแบบสถาปัตยกรรมไทใหญ่

อย่างไรก็ตาม พรบ.โบราณสถาน ฯ พ.ศ. 2504 กำหนดข้อปฏิบัติ มาตรา 10 ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซม แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อถอน ต่อเติม ทำลาย เคลื่อนย้ายโบราณสถานหรือส่วนต่าง ๆ ของโบราณสถาน หรือขุดค้นสิ่งใด ๆ หรือปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถาน เว้นแต่จะกระทำตามคำสั่งของอธิบดีหรือได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี และถ้าหนังสืออนุญาตนั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ประการใดก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น