ตะคริว! สิ่งที่ทรมาน กว่าการโดนทิ้ง

“ตะคริว” สิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้คนมามากมาย และคงมีน้อยคนนัก ที่เกิดมาไม่เคยเป็นตะคริวเลย หลายคนคงทราบว่าตะคริวเกิดจากการเกร็งกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งกะทันหัน แต่รู้หรือไม่ สาเหตุจริง ๆ ของตะคริวที่เกิดกับเราคืออะไร

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมาเล่าเรื่อง ตะคริว และวิธีการรับมือ ให้ฟัง

ตะคริวคืออะไร

ตะคริว เกิดจากการหด และเกร็งตัว ของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง ในร่างกายอย่างกระทันหัน พบมากที่สุดคือตะคริวที่กล้ามเนื้อน่อง รองลงมาคือ กล้ามเนื้อเท้า และกล้ามเนื้อต้นขา เมื่อกล้ามเนื้อบีบตัวแน่น แทบจะไม่สามารถขยับเขยือนได้เลย แม้จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ซึ่งการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ หากเกิดขึ้นตอนที่ร่างกาย ต้องเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ในขณะว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาโลดโผน ตะคริวถือเป็นหนึ่งในภัยร้าย ที่สามารถคร่าชีวิตเราได้รวดเร็ว ไม่แพ้โรคติดต่อชนิดอื่น ๆ เลย

สาเหตุการเกิดตะคริว

1.สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ มวลกล้ามเนื้อจึงลดลง

2.การใช้งานกล้ามเนื้อเกินกำลัง เช่น เล่นกีฬาหนัก การยกของหนัก หรือมีการงานอาชีพที่ต้อง ยืน เดิน นาน ๆ

3.เกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุล โดยเฉพาะ เกลือแร่ชนิดโซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม ซึ่งเกิดได้จากท้องร่วง อาเจียน เสียเหงื่อมาก เล่นกีฬา หรืออยู่ท่ามกลางอากาศร้อน

4.อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจากร้อนเป็นเย็น หรือจากเย็นเป็นร้อน

5.ดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้สูงอายุ

6.อายุมากขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้น เซลล์ทุกชนิดของร่างกายจะเสื่อมถอย รวมทั้งเซลล์กล้ามเนื้อ ดังนั้นจึงพบอาการนี้ในผู้สูงอายุได้บ่อย

7.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดการขับน้ำ ออกทางปัสสาวะมากขึ้น ร่างกาย และกล้ามเนื้อจึงขาดน้ำ

8.เป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคเรื้อรัง ที่เกี่ยวกับความผิดปกติของกระดูกสันหลัง และไขสันหลัง จึงส่งผลให้ระบบประสาทสั่งงานกล้ามเนื้อผิดปกติ โรคช่องกระดูกสันหลังตีบ เป็นโรคหลอดเลือดส่วนปลายแข็ง จึงส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด เป็นต้น

9.ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การที่กล้ามเนื้อหดเกร็งอาจเป็นผลข้างเคียงมาจากการรับประทานยาบางกลุ่ม เช่น กลุ่มยาระงับอาการทางจิต ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ ยาสลายไขมันในเลือด และสเตอรอยด์

การรับมือกับตะคริว

1.ยืดกล้ามเนื้อและนวด

ตะคริวที่ต้นขาหน้า: ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง หรือนอนคว่ำหน้าลงบนพื้น จากนั้นใช้มือพับขาข้างที่ปวดเข้าหาตัวจากทางด้านหลัง กล้ามเนื้อบริเวณหน้าขาจะรู้สึกตึง ยืดค้างไว้จนกว่าอาการปวดจะหาย

ตะคริวที่ต้นขาด้านหลัง: นอนหงาย และเหยียดขาขึ้นในมุมตั้ง จากนั้นงอข้อเท้าเข้าหาตัว แล้วใช้มือดึงขาข้างที่ยกเข้าหาตัว ให้มากที่สุดจนรู้สึกตึง ดึงค้างไว้จนกว่าอาการปวดจะหาย

ตะคริวที่น่อง: นั่งลงบนพื้น และเหยียดขาไปด้านหน้าให้ตรง จากนั้นใช้มืองอปลายเท้าเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงที่บริเวณน่อง ควรทำค้างไว้จนกว่าจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัวแล้ว
หลังจากที่อาการปวดทุเลาลง หรือหายไปแล้ว ให้นวดเบา ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น

2.วิธีประคบร้อน และประคบเย็น

ประคบร้อน: ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น หรือแผ่นประคบร้อน กดลงไปในบริเวณที่ปวด ความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้เร็วขึ้น

ประคบเย็น: ใช้น้ำแข็ง หรือแผ่นเจลแช่แข็ง ประคบไว้ในบริเวณที่ปวด โดยมีผ้าสะอาดขั้นระหว่างอุปกรณ์ประคบเย็น และผิวหนัง การประคบเย็น จะช่วยให้รู้สึกชา และบรรเทาอาการปวดลงได้

3.การรับมือตะคริวด้วยวิธีอื่นๆ

รับประทานยาแก้ปวด: รับประทานตามที่ระบุไว้บนฉลาก หรือตามที่แพทย์จัดไว้ให้ ในกรณีที่เป็นตะคริวบ่อยครั้ง และได้เคยปรึกษาแพทย์แล้ว

ดื่มน้ำให้มาก: น้ำ และเครื่องดื่มสำหรับการเล่นกีฬา ก็สามารถคลายตะคริวได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบของเกลือแร่

การป้องกันการเกิดตะคริว

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  2. ออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หักโหม
  3. ฝึกยืดเหยียด (Stretching) โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่เกิดตะคริวบ่อยๆ
  4. หลีกเลี่ยงการทำงาน หรือกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อเกินกำลัง เช่น ยกของหนัก
  5. ถ้าออกกำลังกายหนัก ควรดื่มน้ำ และเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
  6. กินอาหารที่มีวิตามิน และเกลือแร่ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น กล้วย
  7. ผู้สูงอายุ ควรค่อย ๆ ขยับแขนขาอย่างช้า ๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศเย็นมาก และควรสวมถุงเท้าขณะนอน เพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า

สรุป
“ตะคริว” สามารถเกิดได้กับทุกวัย ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้สูบบุหรี่จัด แต่พบบ่อยในนักกีฬาที่ออกกำลังหนัก หรือมากเกินไป แต่ตะคริวจะไม่น่ากลัวเลย หากเกิดขึ้นบนบก แต่หากเกิดขึ้นในน้ำ คงยากที่จะช่วยเหลือตัวเอง ทางที่ดีเราควรป้องกันการเกิดตะคริวจะดีกว่าค่ะ

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

อ้างอิงข้อมูลจาก
www.goodlifeupdate.com
www.honestdocs.co

บทความที่เกี่ยวข้อง

สุขภาพผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย

“ประคบร้อน-ประคบเย็น” ต่างกันอย่างไร? อาการแบบไหนต้องประคบร้อนหรือเย็น

“ใหลตาย” นอนหลับแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย

ร่วมแสดงความคิดเห็น