“ใหลตาย” นอนหลับแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย

ใหลตาย ความเชื่อของคนไทยในสมัยก่อนที่เชื่อว่า ผีแม่ม่ายมาพาชายหนุ่มไปอยู่ด้วย โดยมีวิธีการแก้คือใส่ผ้าถุง ทาปากแดง นำป้ายมาแขวนหน้าบ้านพร้อมเขียนข้อความว่า บ้านหลังนี้ไม่มีผู้ชาย เป็นต้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “ใหลตาย” ที่เป็นฆาตกรเงียบที่ทำให้คนเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนขณะนอนหลับ โดยไม่อาจระบุสาเหตุแห่งความตายได้นั้น ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์พบว่าคนที่ใหลตายส่วนมากมีโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจกับ “โรคใหลตาย” ที่คร่าชีวิตคนขณะนอนหลับ

ใหลตายคืออะไร ?

ใหลตาย ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่ากลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) เกิดขึ้นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่เป็นจังหวะและสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้สมองตายและเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน ทั้งนี้ ภาวะใหลตายไม่เพียงเกิดขึ้นในระหว่างนอนหลับอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่อาจเกิดขึ้นในขณะตื่นได้เช่นกัน โดยพบว่าพื้นที่ที่มีคนใหลตายมากที่สุดจะเป็นพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

อาการของภาวะใหลตาย

ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นกลุ่มอาการบรูกาดา เพราะมักไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ชัก หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือใจสั่น

ในกรณีที่อาการกำเริบระหว่างนอนหลับอาจหายใจเสียงดังครืดคราดคล้ายละเมอ ซึ่งหากหัวใจไม่กลับมาเต้นเป็นปกติภายใน 6-7 นาที อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่สัญญาณของภาวะไหลตายเสมอไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นและรับการรักษาต่อไป

สาเหตุของภาวะใหลตาย

โดยปกติหัวใจห้องบนขวาของคนเรา มีเซลล์พิเศษที่ทำหน้าที่ สร้างกระแสไฟฟ้าเพื่อควบคุมให้หัวใจเต้นเป็นปกติ เมื่อเซลล์ดังกล่าวเกิดความบกพร่องจึงกระทบต่อการทำงานของกระแสไฟฟ้า ทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ และสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้หมดสติและอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และอาจมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น

  1. พันธุกรรม
  2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ
  3. อาหารที่ทำให้เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมสูงหรือต่ำเกินไป
  4. ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้นและเสียชีวิตในที่สุด
  5. การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสมและเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
  6. การขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดี ๆ รู้สึกอ่อนเพลียและอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที
  7. เมื่อมีไข้หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก รวมถึงภาวะขาดน้ำ ก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะไหลตายได้

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคใหลตาย

คนที่มีความเสี่ยงโรคใหลตายนั้น คือผู้รอดชีวิตจากการใหลตาย ผู้ที่มีญาติสายตรงมีอาการใหลตาย หรือผู้ที่ตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ Brugada Syndrome

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะใหลตาย

ให้จับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาลหรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย หากพบว่าไม่หายใจหรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาทีโดยไม่หยุดจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว และไม่ควรเสียเวลาโดยไม่จำเป็น เช่น งัดปากคนไข้ด้วยของแข็งเพราะอาจเป็นอันตราย และให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตายอาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน

การรักษาภาวะใหลตาย

  1. ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) โดยฝังไว้บริเวณหน้าอกด้านซ้ายใต้กระดูกไหปลาร้า อุปกรณ์นี้ทำงานด้วยการส่งกระแสไฟฟ้า ไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นกลับมาเต้นเป็นปกติเมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไป แต่การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจอาจส่งผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการช็อกแม้ในขณะที่หัวใจเต้นเป็นปกติได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินข้อดีและข้อเสียก่อนรักษาด้วยวิธีนี้
  2. การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation: RFA) แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวบ่อยครั้งเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่ม เพื่อลดความถี่ของการเกิดภาวะดังกล่าว
  3. การใช้ยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาควินิดีน วิธีนี้อาจใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย หรือใช้เป็นวิธีเสริมในผู้ที่ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ

การป้องกันภาวะใหลตาย

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะใหลตายที่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะใหลตาย ทำได้ดังนี้

  1. ควรรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หากมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  2. ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ เช่น มีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาจดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
  3. ยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ ผู้ที่ทราบว่าตนเองเสี่ยงเกิดภาวะใหลตายควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับประทานยาทุกชนิด
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละมาก ๆ
  5. ผู้ที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตจากภาวะใหลตายหรือมีอาการเข้าข่ายเป็นภาวะนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการวินิจฉัยเพิ่มเติมและให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป

สรุป

ปัจจุบันวงการแพทย์ทราบสาเหตุของผู้ที่เสียชีวิตด้วย ภาวะเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน มากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจเกิดจาก หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน หรือการส่งสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติฉับพลันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่สามารถบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ ทำให้เสียชีวิตกะทันหัน อย่างไรก็ตาม การดูแลตัวเองให้ปราศจากโรค โดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจโรคประจำปีทุกครั้ง ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”

ข้อมูล : สสส, posttoday.com, med.mahidol.ac.th, pobpad.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น