ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มช. ชี้ “เผาที่โล่ง” สาเหตุหลัก เตือน PM2.5 สุดอันตรายเคลือบสารก่อมะเร็ง

หน.ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มช.ระบุ3ปัจจัยต้นตอก่อปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบนทุกปี ชี้“เผาที่โล่ง”สาเหตุหลัก เตือนPM2.5สุดอันตรายเข้าถึงถุงลมปอด แถมเคลือบสารก่อมะเร็ง เตรียมลุยโครงการวิจัยหาข้อมูลวิเคราะห์แหล่งกำเนิดและป้องกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ระบุว่า ปัญหาหมอกควันภาคเหนือตอนบนที่ต้องเผชิญสถานการณ์เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ของทุกปีนั้น มีสาเหตุมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ปัจจัยสภาพภูมิประเทศ เนื่องจากมีการตั้งเมืองอยู่ในแอ่งกระทะและมีภูเขาล้อมรอบ ปัจจัยที่สองคือปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา เนื่องจากอากาศนิ่ง ลมสงบและความกดอากาศสูง ทำให้เอื้ออำนวยต่อการกักตัวของมลพิษ และปัจจัยที่เป็นสาเหตุหลัก คือ การเผาในที่โล่ง เนื่องจากการเกิดปัญหามลพิษทางอากาศมักเกิดในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เชื้อเพลิงกำลังแห้ง หากมีการเผาจะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศปลดปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ

ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า ความรุนแรงของปัญหาหมอกควันมีแนวโน้มจะเกิดซ้ำทุกปี เนื่องด้วยปัจจัยหลักที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น เนื่องจากยังมีการเผาอย่างต่อเนื่องในภาคการเกษตรรวมไปถึงการเผาในพื้นที่ป่า ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศและในเมืองยังมีการคมนาคมอย่างหนาแน่น ปัญหาการปล่อยควันท่อไอเสียของรถและภาคการขนส่งนั้นนับเป็นปัญหาหลักของการเกิดมลพิษทางอากาศในเมืองเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ปัญหาหมอกควันก่อให้เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน ซึ่งผลกระทบที่สำคัญเป็นปัญหาสุขภาพ เนื่องจากฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการเผา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเผาของเครื่องยนต์หรือการเผาในที่โล่งจะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ฝุ่นที่มีขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้โดยที่ไม่สามารถถูกดักจับโดยกลไกการป้องกันของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นมีขนาดเล็กมากจะสามารถเข้าไปได้ลึกในระดับถุงลมปอด ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้

นอกจากนี้ในฝุ่นขนาดเล็กจะมีองค์ประกอบทางเคมีอยู่จำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นคือสารก่อมะเร็งกลุ่มพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ซึ่งองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศสหรัฐอเมริกา (US.EPA) ได้ประกาศให้เป็นกลุ่มสารที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสามารถก่อให้เกิดมะเร็งในระยะยาวได้ จากการวิจัยพบว่า เมื่อมีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กในอากาศมากจะมีแนวโน้มจะมีสารก่อมะเร็งกลุ่มดังกล่าวมากด้วย เนื่องจากสารเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน หรือแม้แต่การเผาชีวมวล

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นคือการป้องกันเบื้องต้น ให้ประชาชนทั่วไปดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง ด้วยการใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ เพื่อไม่ให้ฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเมื่อออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน และอาจจะต้องงดกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งที่จะทำให้เราหายใจเร็วขึ้นและสามารถที่จะสูดฝุ่นเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะต้องทำกันหลายภาคส่วน เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและลดมลพิษในอากาศ การใช้พลังงานสะอาด การใช้รถสาธารณะ ลดการเผาทั้งภาคเกษตรและการเผาป่า ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องให้ความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาในระยาวอย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มช. ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการ “การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ซึ่งจะเริ่มทำการเก็บตัวอย่างในปี พ.ศ. 2562 ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดและเก็บตัวอย่างฝุ่นใน 4 พื้นที่ คือ อำเภอเมือง และ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยจะทำการเก็บตัวอย่างฝุ่น PM2.5 และฝุ่นละเอียดระดับ submicron หรือ ultra-fine เพื่อนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพว่าในฝุ่นนั้นมีสารอันตรายใดบ้าง รวมทั้งทราบถึงตัวบ่งชี้แหล่งกำเนิดของฝุ่นเพื่อจะวิเคราะห์ว่า ฝุ่นที่เจอในอากาศเป็นฝุ่นที่มีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด เช่น จากการจราจร จากการเผาไหม้ชีวมวลในที่โล่ง หรือจากหมอกควันข้ามแดน เป็นต้น คาดว่าโครงการวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การวางแผนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด และเป็นประโยชน์ในการช่วยป้องกันวิกฤตการณ์หมอกควันในอนาคต.

ร่วมแสดงความคิดเห็น