วัดจองหม่วยต่อ วัดพม่า อ.ขุนยวม

เมืองขุนยวมเป็นเมืองเก่าอายุมากกว่า 150 ปีแล้ว มีวัดอยู่ในตัวเมืองขุนยวมอยู่หลายวัดเลยทีเดียว และส่วนใหญ่เป็นวัดไต หรือวัดคนไทใหญ่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ วัดหนึ่งที่อยากจะนำไปชมวันนี้คือ “วัดม่วยต่อ” ในภาษาไต (ไทใหญ่) จะเรียกพระธาตุว่าหม่วยต่อ วัดต่าง ๆ ที่มีการบรรจุพระธาตุก็จะเรียกว่า “จองหม่วยต่อ หรือ วัดม่วยต่อ” เพราะการตั้งชื่อให้เป็นภาษาไทยกลางของส่วนกลางทำให้การเรียกชื่อนั้นเพี้ยนไป

วัดม่วยต่อนี้ในอดีตตั้งอยู่ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเมืองขุนยวม คนท้องถิ่นจะเรียกวัดม่วยต่อในชื่อเล่นอีกหนึ่งชื่อก็คือ “จองเน๋อหรือวัดทิศเหนือ” จากประวัติที่มีคนแก่เล่าสืบต่อกันมานั้นบอกว่า เมื่อปี พ.ศ.2397 นั้นมีการพบว่าเป็นวัดร้าง ที่มีซากพระธาตุและวิหารเก่าอยู่ เมื่อมีพระธุดงค์มาอาศัยพักระหว่างเดินธุดงค์ เมื่อมีชาวบ้านเลื่อมใสมากขึ้นชาวบ้านจึงช่วยกันทะนุบำรุงรักษา มีการสร้างศาลาการเปรียญแบบไต (ไทใหญ่) ขึ้นมาใช้ชั่วคราวและได้เรียกวัดนี้ว่า “จองหม่วยต่อ” (จอง=วัด ในภาษาไต) พ.ศ.2451 มีศรัทธาลุงจองหลู่และครอบครัว พร้อมด้วยศรัทธาทั้งหลาย มีจิตศรัทธาสร้างศาลาการเปรียญแบบไทยใหญ่เป็นอาคารถาวรขึ้นหลังหนึ่งแทนศาลา หลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก พร้อมกับสร้างพระประธานแบบก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ขึ้นเป็นองค์แรก (องค์ซ้ายมือ) ต่อมาอีกหนึ่งปีพระโพธิญาณเจ้าอาวาสองค์ที่สองพร้อมด้วยลูกศิษย์ลูกหาได้ สร้างพระประธานองค์ที่สองขึ้นลุ ถึง พ.ศ.2471 ศรัทธาแม่เฒ่าพะก่าหม่านจี่ พานิชยานนท์และครอบครัว พร้อมด้วยศรัทธาอื่น ๆ ร่วมกันสร้างศาลาการเปรียญเพิ่ม 1 หลัง พร้อมกับสร้างหอไตรแบบไทยใหญ่ใต้ฐานเจดีย์และศาลาบำเพ็ญสมณธรรม (สลอบอาหยุ่ง) ด้านหน้าพระธาตุเจดีย์ไว้เป็นที่บำเพ็ยสมณธรรมคนเฒ่าคนแก่อีกด้วย

พ.ศ.2472 ศรัทธาพ่อเฒ่าจองยอย แม่เฒ่าจองออย วัฒนมาลาและครอบครัว พร้อมด้วยศรัทธาชาวบ้านขุนยวมได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระประธานขึ้น 1 องค์ เป็นองค์ที่สามและสร้างศาลาการเปรียญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลัง พ.ศ.2439 นายพะกะเปอพร้อมด้วยคณะศรัทธาได้ร่วมแรงสามัคคีกันสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้น 4 องค์ ปัจจุบันเหลือเพียง 3 องค์ เพราะองค์ที่ 4 ทรุดพังไม่สามารถบูรณปฏิสังขรณ์ให้คงสภาพเดิมได้ ส่วน 3 องค์ที่เหลือนี้พระมหาธรรมศรฐานิสสโร ได้เชิญชวนศรัทธาญาติโยมที่มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ในขณะเดียวกันศรัทธานายส่ง กานหลู่ บุญลืนและคณะศรัทธาทั้งหลายได้มีจิตศรัทธาปสาทร่วมกันสร้างศาลาหน้าองค์พระเจดีย์ 1 หลัง เพื่เป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพระสงฆ์และเป็นที่จำศีลภาวนาของสัตบุรุษ พ.ศ. 2512 พระครูอนุสารณ์ศาสนการ ได้เชิญชวน ศรัทธาประชาชนทั้งใกล้และไกล บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญด้านหน้าซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนแทบจะอาศัยอยู่ไม่ ได้ให้เป็นอาคารถาวรแบบใหม่ หลังคาเป็นแบบศิลป์ไทยภาคกลางทำให้วัดม่วยต่อเป็นถาวรสถานที่ผสมผสานศิลปของ ไทยใหญ่เข้ากับศิลปไทยกลาง

ชาวเมืองขุนยวมอยู่กันสงบสุขตามฐานะเมืองเล็ก ๆ ชายแดนพม่า แต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นกองทัพญี่ปุ่นส่วนหนึ่งได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อส่งเสบียงต่างๆเข้าไปในประเทศพม่า แต่อีกด้านหนึ่งที่อำเภอขุนยวมนี้ ก็มีอีกหนึ่งกองกำลังได้มีการตัดถนน เข้ามาที่นี่ เพื่อจะเดินทางโดยทางรถเข้าไปในประเทศพม่าด้านรัฐคะยาห์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลก ประเทศญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามครั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นเลยต้องยกทัพกลับโดยการเดินเท้ากลับมาผ่านอำเภอขุนยวมอีกครั้ง แต่เนื่องจากมีทหารที่บาดเจ็บเยอะ เลยมีการตั้งค่ายพักแรมเต็มขุนยวมไปหมด และวัดม่วยต่อแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว ระหว่างที่พักอยู่ที่นี่นั้นก็มีทหารหลาย ๆ คนเสียชีวิตลง และได้มีการฝังศพไว้บางส่วนของวัดม่วยต่อด้วย และปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นที่ทราบข่าวว่ามีบรรพบุรุษได้ฝังไว้ตรงนี้ก็มาทำบุญให้ปีละหลาย ๆ กลุ่ม หลาย ๆ หน่วยงาน

งานประเพณีที่มีชื่อเสียงของวัดม่วยต่อ อ.ขุนยวม ได้แก่ ปอยหมั่งก่ะป่า หรืองานประเพณีเขาวงกต จากความเชื่อที่ว่า ป่าหิมพานต์เป็นป่าที่มนุษย์ปถุชนไม่สามารถเข้าไปได้โดยง่าย และมีทางเข้าออกแค่ทางเดียวและการเข้าออกก็ยากลำบาก เลยนำมาดัดแปลงให้คนเข้าไปสักการะบูชาในทางเดินที่คดไปเคี้ยวมาของงานนี้ งานประเพณีเขาวงกตเดือน 12 ดัดแปลง จากที่ได้ทำกันมาทุกปี ให้ใกล้กับความเป็นจริง ตามความเป็นมาให้มากที่สุด โดยตรงกลางจะมีปราสาท 2 หลัง หลังหนึ่งเป็นที่ประทับของพระเวสสันดร อีกหนึ่งเป็นที่ประทับของพระนางมัทรีและกัญหาชาลี อีก 4 มุมนั้นเป็นสระบัว บนสระบัวทุกสระ จะเป็นวัด (จองพารา) 2 คอสามชาย เป็นที่ประทับของพระอุปคุต

ซึ่งมีอยู่ในน้ำมหาสมุทร เพื่อให้สอดคล้องกับคัมภีร์ที่คนสมัยก่อนเขาบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐานทาง พระพุทธศาสนาว่า ในรอบปีหนึ่ง ๆ พระอุปคุตจะเสด็จขึ้นมาบิณฑบาตรในโลกมนุษย์ครั้งหนึ่ง ในวันเพ็ญเดือน 12 เวลาเช้าตรู่ของทุกปี ถ้าผู้ใดมีบุญวาสนาพบเห็นและถวายสิ่งของเครื่องใช้ หรือเครื่องอุปโภคต่าง ๆ จะเป็นข้าว ขนม หรือผลไม้ต่าง ๆ และได้มีการจำลองการเดินทางค้าขายในอดีตไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานไว้ดูด้วย คือ “โบต่าง หรือ วัวต่าง ” เนื่องจากว่าการเดินทางเพื่อทำมาค้าขายในอดีตนั้นใช้ทางเท้าเป็นหลัก ไม่มีรถยนต์ใด ๆ ทั้งสิน ไม่ว่าการไปซื้อ-ขายที่เชียงใหม่ แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน หรือ มัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ก็ใช้วัวต่างแบบนี้ไปเป็นฝูงใหญ่ บางฝูงก็มี 50 ตัว แต่บางฝูงอาจจะมีถึง 100 ตัวก็ได้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น