บ้านเมืองน้อย ชุมชนชายขอบแห่งอำเภอปาย

เมืองน้อยเป็นชุมชนโบราณ เรียกได้ว่าสร้างมาเมื่อประมาณ 1,000 กว่าปี มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองน้อยแห่งนี้สืบต่อกันมาว่า ในอดีตเมืองน้อยเป็นชุมชนของเผ่าลัวะ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงขึ้น ชาวลัวะไม่มีอาหารกินเทวดาจึงได้เอาเนื้อโยนลงมาจากสวรรค์ พวกลัวะที่อดอยากจึงพากันไปกินเนื้อของเทวดาแล้วล้มตายลงเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลือเกิดความกลัวจึงพากันอพยพหนีไปอาศัยอยู่บริเวณแม่สะเรียง

ครั้งหนึ่งกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งยกทัพไปตีเมืองตองอูก็ได้ใช้เส้นทางจากบ้านเมืองน้อยเข้าไปในพม่า นอกจากนั้นยังมีตำนานเกี่ยวกับชื่อเมืองน้อยเล่าว่า รัชทายาทของเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์เล็กนามว่า “เจ้าน้อย” ไปหลงรักสาวชาวพม่าจนตกร่องป่องชิ้น ครั้นเมื่อกลับมาถึงเชียงใหม่ชาวเมืองได้ขับไล่เจ้าน้อย เนื่องจากผิดราชประเพณีที่เชื้อสายเจ้าผู้ครองนครไปได้ชาวพม่ามาเป็นเมีย เจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นราชบิดาจึงเนรเทศเจ้าน้อยให้มาอาศัยอยู่ในเมืองหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดชายแดนพม่า เรียกชื่อว่า “เมืองเจ้าน้อย” ภายหลังกลายมาเป็นบ้าน “เมืองน้อย”

เมืองน้อย เคยรกร้างผู้คนอยู่สมัยหนึ่งเนื่องจากเกิดสงคราม กระทั่งปี พ.ศ.2450 ชาวไทใหญ่บ้านมะเขือคานในพม่าได้อพยพเข้ามาอาศัยโดยการนำของนายหม่องพู้น ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หลังจากนั้นต่อมาก็มีชาวไทใหญ่และปกาเกอญอจากที่ต่าง ๆ อพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านเมืองน้อยเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ผสมกันระหว่างชนสองเชื้อชาติ นับได้ว่าเป็นชุมชนที่มีอายุกว่า 700 ปี เก่าแก่กว่าชุมชนใด ๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบ้านเมืองน้อยจะเป็นชุมชนของชาวไทใหญ่และปกาเกอญอที่มีมากถึง 80 % แต่ร่องรอยอารยธรรมของชนเผ่าลัวะดั่งเดิมกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ ยังปรากฏหลักฐานให้เห็น

พระธาตุเจดีย์เมืองน้อย โบราณสถานสำคัญยืนยันถึงความรุ่งเรืองไพบูลย์แห่งศิลปกรรมลัวะเป็นอย่างดี รูปทรงเจดีย์แบบระฆังคว่ำที่รับอิทธิพลมาจากสุโขทัย พระพุทธรูปยืนประจำซุ้มอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนา รวมไปถึงแนวกำแพงอิฐโบราณ ล้วนเสริมส่งให้พระธาตุเจดีย์เมืองน้อยได้รับการยกย่องให้เป็นเพชรเม็ดงามตามแบบศิลปกรรมชาวลัวะที่ยากจะมีที่ใดเหมือน

ยิ่งไปกว่านั้น ความเลื่องลือในเรื่องพระธาตุเจดีย์ของล้านนาที่มักจะมีวัตถุโบราณ ของล้ำค่าและพระพุทธรูปฝังอยู่ใต้ฐานเจดีย์ ก็ทำให้ถูกหมายปองจากพวกขบวนการค้าวัตถุโบราณ กระทั่งปี 2508 คืนวันฝันร้ายของชาวเมืองน้อยก็มาถึงเมื่อเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำบินวนรอบหมู่บ้านก่อนที่จะลงจอดกลางทุ่งนา นักค้าวัตถุโบราณอาวุธครบมือพร้อมข้าราชการที่เห็นแก่ได้บางคน หักรานศรัทธาและน้ำใจชาวเมืองน้อย ทั้งที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้แต่ยืนมองตาปริบ ๆ โดยไม่คิดที่จะต่อกลอนกับเจ้าเอ็ม 16 ที่อยู่ในมือแม้แต่น้อย

ผมเคยรู้สึกว่าถ้าเราเรียกพวกขโมยพระว่า “คนโฉด” แล้วเราจะเรียกพวกข้าราชการมีอำนาจที่ละโมบอยากได้สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตัวเองว่าอย่างไร..

สมพร งามจริยาธรรม ประธานชุมชนเข็มแข็งบ้านเมืองน้อย เล่าย้อนความทรงจำในอดีตว่า “เครื่องบินที่ลงจอดกลางทุ่งนาเป็นเครื่องบินของทหาร มีทหารระดับสูงหลายนายพร้อมอาวุธปืนลงมาแล้วขุดเอาของในเจดีย์ ตอนนั้นชาวบ้านยังไม่มีใครรู้ เพราะหมู่บ้านอยู่ห่างจากเจดีย์มาก ส่วนคนที่มีบ้านอยู่ใกล้เจดีย์ส่วนใหญ่ก็เป็นคนแก่ ไม่รู้จะไปต่อสู้กับพวกนี้ได้อย่างไร”

“มีคนบอกว่า พวกนี้ขุดได้พระเก่าไปหลายองค์ ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธรูปยืนประจำซุ้มบนตัวเจดีย์ มันก็เอาไป”
“เจดีย์องค์นี้คนเมืองน้อยเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นที่เคารพศรัทธาในช่วงวันสงกรานต์ชาวบ้านจะทำพิธีทำบุญสรงน้ำทุกปี”

คล้องหลังเหตุการณ์ คืนวันอันฝันร้ายของชาวเมืองน้อยมานานเกือบ 40 ปี ท่ามกลางแสงแดดแห่งอรุณรุ่งทาบทอองค์เจดีย์ ที่หักแหว่งหายไปเกือบครึ่งองค์ ผมได้แต่ยืนสงบและนึกย้อนทวนถึงอดีตแห่งความไพบูลย์ เมื่อครั้งชนเผ่าลัวะยังเรืองอำนาจ ก่อนที่จะทิ้งมรดกล้ำค่าให้คนรุ่นหลังได้สานต่อ

มาวันนี้มรดกล้ำค่าดังกล่าว ถูกคนใจบาปหักรานศรัทธาในคืนวันอันปวดร้าว และบางทีสงกรานต์ปีนี้ อาจเป็นปีที่ลูกหลานชาวเมืองน้อยต้องปวดร้าวและช่วยกันรักษามรดกชิ้นสุดท้ายของบรรพชนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น