แพทย์แนะวิธีดูแล “อาการแพ้เหงื่อตัวเอง” จากภูมิแพ้ผิวหนัง

การแพ้เหงื่อเป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง โดยจะแสดงอาการออกมาในรูปแบบ ผด ผื่น คัน มีผื่นแดงตามร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน เช่น ออกกำลังกาย ทำงานกลางแจ้ง จึงควรดูแลและป้องกันภูมิแพ้ผิวหนังอย่างถูกวิธี

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแพ้เหงื่อเป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยมีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ได้มากกว่าปกติ โดยความร้อนเป็นตัวเร่งให้ต่อมเหงื่อในร่างกาย ขับเหงื่อออกมาอย่างรวดเร็ว ทำให้อุดตันบริเวณต่อมเหงื่อ เกิด ผด ผื่น คัน มีผื่นแดง เกิดอาการแพ้ขึ้นทางผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีประวัติภายในครอบครัวเป็นภูมิแพ้แบบต่างๆ เช่น หวัดเรื้อรัง แพ้ฝุ่นไข้ละอองฟางหรือหอบหืด ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน เช่น ออกกำลังกาย ทำงานกลางแจ้ง

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคค่อนข้างจะมีรูปแบบเฉพาะสังเกตได้ง่าย โดยจะมีผิวแห้งและคัน มีผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณของร่างกาย ดังนี้ ช่วงอายุ 2 เดือน – 2 ปี มีผื่นผิวหนังอักเสบแดงบริเวณแก้ม หน้าผาก เป็นบริเวณที่มีการเสียดสีในช่วงที่เด็กยังคว่ำหรือคลาน แต่บางคนอาจมีเพียงแค่รอยด่างขาว ๆ ที่แก้มเรียกว่า กลากน้ำนม อาการผิวแห้งคันจะกระตุ้นให้เด็กเกา ยิ่งเกาอาการอักเสบยิ่งมากขึ้น จนบางรายอาจมีการติดเชื้อที่ผิวหนังซ้ำ ช่วงอายุ 4 – 10 ปี รอยผิวหนังอักเสบจะเลื่อนไปสู่ตำแหน่งของข้อพับบริเวณแขนและขา ข้อพับเข่า ข้อพับข้อศอก ข้อมือ หรือข้อเท้า ผื่นจะเป็นทั้งสองข้างซ้ายขวา แต่ความรุนแรงของการอักเสบอาจไม่เท่ากัน

บางรายเป็นตุ่มคันเล็กๆ และเกาจนเยิ้มแฉะ บางรายอาจจะมีผิวหนังที่หนาตัวขึ้นเป็นปื้นและคันมาก พอพ้นช่วงนี้แล้ว ส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไป เหลือแต่อาการผิวแห้ง ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีอาการผิวแห้ง คันและแพ้ง่าย บางรายมือแตกระแหงจนมีเลือดออกซิบ ๆ และจะแพ้ได้ง่าย ทั้งนี้โรคภูมิแพ้ผิวหนังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดและไม่ติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้

อย่างไรก็ตาม อาจลดความรุนแรงของโรคได้ โดยการดูแลและปฏิบัติตนให้ถูกวิธี ดังนี้ หลีกเลี่ยงสถานที่มีอากาศร้อนอบอ้าว การอาบน้ำร้อนจัด หรือเปิดแอร์เย็นจัด ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ควรทำความสะอาดที่นอนและเครื่องนอนอยู่เสมอ เพื่อขจัดและป้องกันไรฝุ่น อาบน้ำชำระร่างกายบ่อยๆ หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำถูตัวทุกครั้งที่รู้สึกร้อน ใช้ยาทาแก้ผดผื่น เช่น คาลาไมน์ และควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังหากมีผื่นแดง คันหรืออักเสบ อย่าซื้อยาใช้หรือหยุดยาเองในขณะที่ยังไม่หายดี จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผื่นเป็นๆ หายๆ และเรื้อรังยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น