การทำไร่ข้าวหมุนเวียนของชาวปกาเกอญอ วิถีการผลิตเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนบนที่สูง

ไร่หมุนเวียน เป็นวิถีการผลิตดั่งเดิมอันผูกพันกับประเพณีเก่าแก่ของชุมชนเกษตรกรรมมาเนิ่นนาน ในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นชุมชนในพื้นที่ราบลุ่มหรือชุมชนบนที่สูงต่างก็เคยมีวิถีการผลิตแบบหมุนเวียนคือ การหมุนไปทำที่ใหม่และเวียนกลับมาที่เก่า ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนเป็นระบบการผลิตแบบใหม่ในปัจจุบันหัวใจสองสิ่งของการทำไร่หมุนเวียนคือ “ธรรมชาติ” และ “ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวม”

ด้วยคำนึงถึงความสอดคล้องต่อธรรมชาติเพื่อรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์ จึงมีการผลัดเวียนพื้นที่ในการปลุกพืช ให้ดินในพื้นที่เดิมได้ฟื้นตัวตามธรรมชาติด้วยคำนึงถึงความสอดคล้องต่อวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรของชุมชน จึงมีระบบกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินทำกินเพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้อย่างไร้ขอบเขตจำกัดหากเมื่อการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อการค้าเกิดขึ้น จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้คนเริ่มต้องการที่ดินในจำนวนมากขึ้นและเป็นของตนเอง “ระบบเกษตรกรรมแบบถาวร” และ “ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” ได้แพร่กระจายตัวไปยังชุมชนเกษตรกรรมในภาคต่าง ๆ และได้ส่งผลกระทบสะสมมานานจนเกิดวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน

Processed with VSCOcam with f2 preset

ภูมิปัญญาในการผลิตแบบดั้งเดิมยังปรากฏให้เห็นอยู่ในแถบพื้นที่สูง โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งของชุมชนเผ่าปกาเกอญอ หรือ กะเหรี่ยง แม้ว่าจะมีการปรับตัวเปลี่ยนวิถีการผลิตไปบ้าง แต่ในบริเวณภาคเหนือตอนบนยังพบว่าชนเผ่าปกาเกอญอกว่า 60 % ยังคงมีวิถีการผลิตแบบไร่หมุนเวียนดั้งเดิมมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับคำว่า “ไร่หมุนเวียน” และ “ไร่เลื่อนลอย” นั่นเพราะการปลูกฝังความเชื่อที่ว่า “ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอยและตัดไม้ทำลายป่า” ได้เข้าไปอยู่ในความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ ภาพที่เราภูเขาหัวโล้นและการแผ้วผางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่าง

กะหล่ำปลี ได้ถูกเหมารวมว่าเป็นความผิดของชาวเขาทุกคนทุกชนเผ่า ทั้งที่ในความเป็นจริงการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยนั้นเกิดจากสาเหตุที่ซับซ้อนและเงื่อนไขหลายประการ ยังมีชาวเขาอีกหลายพื้นที่หลายชนเผ่าที่ยังดำรงวิถีชีวิตวิถีการผลิตที่ผูกพันกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไว้ให้ยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ “ไร่ข้าวหมุนเวียน” ของชนเผ่าปกาเกอญอเป็นตัวอย่างการผลิตที่ดำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่กลมกลืนกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชุมชน ดังที่พ่อหลวงนะพอ แห่งบ้านแม่ลานคำ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวไว้ว่า “ไร่หมุนเวียนคือชีวิตของปกาเกอญอ ขวัญของชาวปกาเกอญออยู่ที่ไร่”

การทำไร่ข้าวหมุนเวียนของชาวปกาเกอญอ ไม่มีการบุกเบิกพื้นที่ป่าใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ กล่าวคือในชุมชนจะมีการแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ไว้อย่างชัดเจนทั้งที่บ้าน ที่นา ที่สวน ที่ไร่ ที่ป่าชุมชน ป่าพิธีกรรม ป่าความเชื่อ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย ดังนั้นพื้นที่ไร่ข้าวหมุนเวียนจะมีขอบเขตจำกัดที่แน่นอนและเพียงพอต่อทุกครอบครัวในชุมชน แต่ละปีครอบครัวหนึ่ง ๆ จะใช้พื้นที่ทำไร่ไม่เกิน 5-10 ไร่ ขึ้นอยู่กับแรงงานในครอบครัว พื้นที่ไร่ที่เหลือจะถูกทิ้งไว้ให้เป็นไร่ซากหรือไร่เหล่า เพื่อพักฟื้นหน้าดินให้อุดมสมบูรณ์ การหมุนเวียนพื้นที่จึงเป็นแบบ “ใช้สั้น-ทิ้งยาว” คือใช้พื้นที่ 1 ปี ทิ้งไว้ 5-8 ปีและหมุนกลับมาทำใหม่ในพื้นที่เดิมพื้นที่ไร่ที่ถูกพักไว้จึงเกิดเป็นป่าอีกผืน ที่ขึ้นปกคลุมดินเป็นการสะสมธาตุอาหารให้แก่ดิน เพิ่มต้นไม้สำหรับการตัดฟันเพื่อใช้ประโยชน์

ส่วนการทำไร่เลื่อนลอย เป็นการทำการเกษตรของชนเผ่าที่ในอดีตมักเร่รอน ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงมีการบุกเบิกพื้นที่ป่าใหม่ในบริเวณกว้างและทำการเกษตรในระยะเวลานานจนดินเสื่อม แล้วจึงออกเดินทางไปบุกเบิกพื้นที่แห่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า หรือที่เรียกว่า “ใช้ยาว-ทิ้งยาว” หากมีบางชนเผ่าก็เวียนกลับมาที่เดิมในอีกหลายปีข้างหน้า แต่บางชนเผ่าก็ทิ้งไปเลยไม่กลับมาใช้พื้นที่เดิมอีก ดินจึงเสื่อมโทรมป่าจึงยากที่จะฟื้นตัวชนเผ่าปกาเกอญอมีความรักและความเชื่อต่อธรรมชาติเป็นพื้นฐานแห่งวิถีชีวิต พวกเขามิอาจแยกดิน น้ำ ป่า พืช สัตว์ มนุษย์ ผี ออกจากกันได้

ดังบทเพลง “ทา” ที่เป็นตำนานเพลงสอนลูกหลานของชาวปกาเกอญอที่ว่า “ไม้สูงอยู่ร่วมกับลม ค่างอยู่กับยอดไม้ ชะนีหนึ่งตัวตาย เทือกเขาเจ็ดเทือก เงียบ วังเวง นกกกหนึ่งตัวตาย ต้นไทรเจ็ดต้น เศร้าอาลัย” วิถีการผลิตแบบไร่หมุนเวียน แท้จริงเป็นการดำรงชีวิตของชาวปกาเกอญอ ที่ไม่อาจแยกออกจากความเชื่อประเพณี พิธีกรรมและวิถีชีวิตของพวกเขาได้ ทุกครั้งที่เขาย่ำเดินลงดิน พวกเขาคำนึงถึงขวัญของมนุษย์ที่ผูกพันอยู่กับสัตว์และธรรมชาติ ทุกครั้งที่ด้ามเสียมกระทบพื้นดิน พวกเขาคำนึงถึงความอยู่รอดแห่งพืชพรรณ สัตว์และธรรมชาติ ดังนั้นก่อนเลือกพื้นที่ทำไร่จะต้องมีพิธีมัดมือเรียกขวัญ 37 ขวัญ เป็นขวัญที่อยู่ในกายมนุษย์ 5 ขวัญ คือ ขวัญบนหัว ขวัญมือขวา ขวัญมือซ้าย ขวัญเท้าขวาและขวัญหน้าอกหรือหัวใจ อีก 32 ขวัญเป็นขวัญในสัตว์ 32 ตัวตั้งแต่สัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา หนู นก จนถึงเสือ ช้าง ควาย กระทิง ยังมีพิธีกรรมความเชื่ออีกมากมายในระหว่างการทำไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอญอ ดังนั้นการทำไร่หมุนเวียนจึงเกิดจากภูมิปัญญาและความสำนึกในธรรมชาติที่ถูกสืบทอดมาเป็นเวลายาวนานหลายช่วงอายุคน ชาวปกาเกอญอกล่าวว่า “ไร่หมุนเวียนเป็นการช่วยรักษาดิน น้ำ ป่าและสัตว์ป่าไว้ได้ถึงลูกหลาน”

การทำไร่หมุนเวียนเป็นการจัดการที่ดินทำกินของชุมชนควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรป่าของชุมชน ดังนั้นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจึงกำหนดขอบเขตที่แน่นอนชัดเจน โดยที่ไม่มีใครในชุมชนสามารถไปบุกเบิกพื้นที่ป่าใหม่ได้ เนื่องจากพื้นที่ป่าของชุมชนได้ถูกกำหนดขอบ
เขตและวิธีการใช้ประโยชน์ไว้ด้วยแล้วโดยระบบความเชื่อประเพณีนั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น