กำแพงดินเมืองเชียงใหม่

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ในหนังสือเที่ยวเมืองพม่า ทรงกล่าวถึงกำแพงเมืองเชียงใหม่ตอนหนึ่งว่า “การที่หลอด เคอสัน ปฏิสังขรณ์เมืองมัณฑเล ควรได้รับการสรรเสริญ ถ้าหลอด เคอสันมิได้ล้มล้างมติเดิมของรัฐบาลอินเดีย ป่านนี้ปราสาทราชฐาน และเครื่องประกอบปราการเมืองมัณฑเลก็คงสูญ หรือกลายเป็นอย่างอื่นไปนานแล้ว อาศัยคำสั่งของหลอด เคอสันแต่ครั้งนั้นจึงได้เปิดการรักษาของเดิมในเมืองพม่า ว่าเฉพาะเมืองมัณฑเล แม้จนทางเข้าประตูเมืองที่ต้องเลี้ยวหลีกลับแล แม้ลำบากแก่การใช้รถยนต์ในสมัยนี้ ก็ให้คงอยู่อย่างเดิมเป็นแต่ตั้งเครื่องสัญญาณและวางตำรวจประจำสำหรับบอกมิให้รถสวนกันที่ตรงนั้น ทุกวันนี้ ชาวต่างประเทศไปถึงเมืองมัณฑเล แต่พอเห็นแนวกำแพงพระนครรักษาไว้เรียบร้อย และบนนั้นมีปราสาทแบบพม่าอยู่เป็นระยะ และมีคูกว้างใหญ่น้ำใสสะอาดขังอยู่ข้างนอกตลอดแนวกำแพงเมือง ก็รู้สึกว่าเป็นสง่าสมกับเป็นราชธานีเก่ามาก่อน ถ้าจะเปรียบเมืองมัณฑเลกับเมืองที่ฉันได้เคยเห็นมา ดูคล้ายกับเมืองเชียงใหม่มากยิ่งกว่าเมืองอื่น เป็นแต่เมืองเชียงใหม่เล็กกว่าและมิได้รักษาเหมือนอย่างเมืองมัณฑเล แม้ดินฟ้าอากาศคล้ายกัน..”

การสร้างป้อมประตูและแนวกำแพงเมืองของเชียงใหม่นั้น ตามตำนานพงศาดารโยนกกล่าวไว้ว่า เมื่อพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นแล้ว ได้ขุดคูเมืองทั้งสี่ด้านนำเอาดินขึ้นมาถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือ คือ แจ่งศรีภูมิ อันเป็นทิศ มงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนว ทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้าน เมืองเชียงใหม่นอกจากจะมีการสร้างแนวกำแพงเมืองที่ก่ออิฐแล้ว บริเวณนอกเมืองไม่ไกลนักยังมีแนวกำแพงเมืองโบราณที่เป็นคันดิน หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่า “กำแพงดิน” ซึ่งจากรายงานการสำรวจและศึกษานอกสถานที่ของชุมชนศึกษาวัฒนธรรมโบราณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่าง พ.ศ.2508 มีข้อความดังนี้

“ความมุ่งหมายของการสำรวจกำแพงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเรียกว่ากำแพงเมืองชั้นนอกหรือกำแพงดินนี้ มีความคาดหมายว่า แนวกำแพงดินนี้อาจเป็นกำแพงดั่งเดิมที่สร้างในสมัยพระเจ้าเม็งรายก็ได้ เริ่มต้นสำรวจกำแพงดินตรงที่ต่อจากป้อมด้านหลังโรงพยาบาลสวนปรุง กำแพงดินนี้บางแห่งถูกรื้อเพื่อทำถนน ปลูกบ้านเรือนอาศัย ทำย่านการค้า ฯลฯ ไม่เหลือร่องรอยเดิมให้เห็นเลย แต่ทิศทางของกำแพงพอจะประมาณเส้นทางได้ จากการสำรวจโดยตลอด พบว่ามีป้อมเหลืออยู่ให้เห็นเพียง 3 ป้อม ก่อด้วยอิฐแข็งแรงมากสภาพปัจจุบันหักพังไปมากแล้ว การสำรวจแนวกำแพงดินไปจนถึงหน้าวัดสันติธรรมยังพบว่า กำแพงตอนนี้มีแนวหักเป็นมุมหยัก ๆ มีเศษอิฐกองอยู่ทั่วบริเวณ คาดว่าบริเวณนี้อาจจะเป็นที่ตั้งของวัดแต่โบราณ จากนั้นแนวกำแพงพุ่งตรงออกตัดกับถนนสายห้วยแก้ว กำแพงเดิมจะบรรจบกับกำแพงใหม่ตรงจุดที่ห่างจากป้อมของกำแพงอิฐประมาณ 100 เมตร…” ตลอดแนวกำแพงดินที่ค้นพบจะมีคูกว้าง 25 เมตร คือลำน้ำแม่ข่า ลำน้ำช่างเคี่ยนและลำน้ำห้วยแก้ว ลักษณะที่พอจะทราบของเมืองเชียงใหม่เดิมเป็นรูปรี อยู่ห่างจากแม่น้ำปิงที่ตั้งของเมืองตามลักษณะนี้คล้ายกับเมืองสุโขทัย ซึ่งตั้งห่างจากแม่น้ำยม การใช้น้ำหล่อเลี้ยงก็โดยอาศัยน้ำจากเทือกเขาที่มีอยู่โดยรอบ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สำหรับกำแพงเมืองที่ก่อด้วยอิฐหรือกำแพงเมืองรุ่นหลังนั้น สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิละ เมื่อปี พ.ศ.2339 ตามพงศาวดารโยนกกล่าวว่า ได้ก่อกำแพงเมืองใหม่ทั้งสี่ด้าน มีป้อมทั้งสี่มุม ประตูเมืองห้าประตู ในปี พ.ศ.2060 สมัยของพระเมืองแก้วก็ได้โปรดสร้างกำแพงเมืองมาแล้วครั้งหนึ่ง ดร.ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่า กำแพงดินนี้ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าต้องการเอาเมืองเชียงใหม่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ สำหรับเดินทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาในสมัยของพระเจ้าไชยราชา จึงทำอุบายส่งทูตมาเชียงใหม่ นำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าเชียงใหม่ และช่วยซ่อมค่ายคูเมืองหอรบให้ จนเชียงใหม่ไว้วางใจ พม่าจึงสร้างกำแพงดินขึ้นเป็นรูปเกือกม้า ตั้งแต่แจ่งศรีภูมิโค้งโอบรอบตัวเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ไปจนถึงแจ่งกู่เฮืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความจริงเพื่อป้องกันทัพจากกรุงศรีอยุธยานั่นเอง ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนั้นพม่าไม่สร้าง เพราะเป็นทางที่ทัพพม่าจะยกมาเชียงใหม่ ว่ากันว่าการสร้างกำแพงเมืองที่พึลึกเช่นนี้ เชื่อว่าเป็นเหตุให้ชะตาเมืองเชียงใหม่ขาดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนต้องสูญเสียอิสรภาพให้แก่พม่าในที่สุดและตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่นานกว่า 200 ปี.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น