ยุคทองของล้านนา ยุคอนาคตมหานครเชียงใหม่

อารยธรรมซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “อารยธรรมล้านนา” มีหลักฐานการสืบค้นประวัติศาสตร์ บ่งชี้การก่อเกิดขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 อาณาจักรที่มีท้องนาเป็นล้านๆ เกิดขึ้นหลังอาณาจักรอื่น ๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะ ทวาราวดี, ขอม และจำปา ทุกอาณาจักรล้วนมีความเป็นไป ตามกาลเวลา เมื่อเจริญ ย่อมมีเสื่อมถอย

อาณาจักรล้านนาโดดเด่น ยิ่งใหญ่เมื่อ พญามังราย กษัตริย์ลำดับที่ 25 แห่งราชวงศ์ลัวะจักราช ผู้มีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงชาวไทลื้อ แห่งเมืองเชียงรุ้ง อาณาจักรสิบสองปันนา (ปัจจุบันคือเมืองคุนหมิง ในจีน) เมื่อสืบราชบัลลังก์จากพระราชบิดา เป็นเจ้าผู้ครองหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน เชียงราย) ทรงเน้นยุทธวิธีเชิงกุศโลบายมากกว่าการใช้กำลัง เพื่อกำราบ รวบรวมหัวเมือง ชุมชนน้อยใหญ่มาเป็นหนึ่งเดียว วิธีทางการทูต ผนวกการทหาร ส่งผลให้การขยายราชอาณาจักร แผ่ขยายลงมาตามแอ่งลุ่มน้ำแม่ปิง

กว่าจะสถาปนา”เมืองใหม่”สู่ศูนย์กลางแผ่นดินล้านนาได้ พระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง ทั้งที่ เชียงราย ฝาง ลำพูน เชียงของ เชียงตุง และเวียงกุมกาม ก่อนจะจบลงที่เวียงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1839 ในการย้ายเมืองหลวงแต่ละครั้ง ทรงมอบหมายเมืองให้ราชบุตร แลขุนนางที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย เห็นความสามารถ ปกครองบ้านเมืองเหล่านั้น เมื่อทรงเลือกชัยภูมิเมือง นำมาสู่ชัยนคร เมืองแห่งชัยชนะ ซึ่งปรากฏเป็นถิ่นฐานเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน รูปแบบผังเมือง ที่ออกแบบ มีพื้นฐาน พอเพียงกับการดูแลรักษา ปกป้อง มีความอุดมสมบูรณ์ ผสานความเชื่อ ความศรัทธา ในวิถีธรรมชาติ และหลักศาสนา

เชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีชีวิต เพราะรูปลักษณ์ เสมือนรูปบุคคล แต่ละสถานที่ มีจิตวิญญาน ของความเป็น “ใจบ้าน ใจเมือง” มีสะดือเมือง คือบริเวณวัดอินทขิลสะดือเมือง ใกล้ลานราชานุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ พงศาวดารเมืองบางฉบับ บอกเล่าความมหัศจรรย์ ครั้ง “พญามังราย “ต้องอสุนีบาต (ฟ้าผ่า) เป็นสถานที่สิงสถิตของเทพยดา ผู้ปกปักรักษาเมือง โดยครองราชย์ได้ 40 ปี ล่วงแล้ว บางตำนานว่าไว้ พระองค์ทรงพระประชวรไปประทับที่เวียงกุมกาม แล้วสิ้นพระชนม์ที่นั่นก็มี

บริบททางสังคม เศรษฐกิจเชียงใหม่ยุคหลังๆ ในราชวงศ์มังราย มีกษัตริย์ที่โดดเด่น สืบ สานสร้างเมือง มีรากฐานมั่นคง มั่งคั่ง ผ่านมิติด้านศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ความเป็นอยู่ เป็นจุดเริ่มของ ความกินดี อยู่ดี หลายพระองค์ เช่น ยุคสมัยพญากือนา ราวๆ พ.ศ. 1839-1928 หรือรัชสมัยพญาติโลกราช ช่วง พ.ศ.1984-2030 จนเชียงใหม่ เป็นที่หมายของการแย่งชิง ความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักรอื่นๆ นำไปสู่ศึกกระหนาบทั้งฝั่งกรุงศรีอยุธยา และรัฐฉาน จนกระทั่งเมืองอ่อนแอ เพื่อการกรำศึกหนัก ท้ายที่สุด กลายเป็นเมืองขึ้นของพม่ากว่า 200 ปีเศษ ตั้งแต่ พ.ศ.2010 เมืองมีการเปลี่ยนผ่านจากยุคเมืองขึ้น สู่ยุคฟื้นฟู ตั้งแต่ พ.ศ.2339 เมื่อพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ สานสัมพันธ์กับกรุงเทพ ราชอาณาจักรสยาม กระทั่งฟ้าเดียวกัน ในความเป็นไทย

เชียงใหม่ คงอยู่ร่วมสมัยในความเปลี่ยนแปลง จะครบการสถาปนาเมือง 723 ปี ในวันที่ 12 เมษายน 2562 นี้ อารยธรรม ประวัติศาสตร์ พลิกผัน เป็นไปตามยุคจวบจนปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีอัตราความก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงด้านสังคม เศรษฐกิจเมืองติดอันดับต้นๆของไทย มีประชากรเกือบ 1.7 ล้านคน อยู่อาศัยในเขตนครกว่า 1.7 แสนคน ไม่นับรวมประชากรแฝง จำนวนนักท่องเที่ยว ปีละกว่า 9-10 ล้านคน

เมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ถูกพัฒนา เปลี่ยนสภาพให้รองรับจุดศูนย์กลางด้านต่างๆสารพัด ไม่ว่าจะเมืองแห่งการศึกษา เมืองแห่งการท่องเที่ยวบนความเปลี่ยนแปลง ทางที่ต้องเลือกระหว่าง ความมั่งคั่ง แบบเมืองท่องเที่ยวดังๆทั่วโลก กับวิถีเมืองแบบต่างจัง หวัด ที่ดูลางเลือนไกล หรือจะไปสู่เมืองมรดกโลก อนาคตนี้อยู่ที่….ใครกำหนด

ร่วมแสดงความคิดเห็น