วัยรุ่น..ระวังเสี่ยงเป็นโรคจิตแบบไม่รู้ตัว

ยุคสมัยนี้อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่วันนี้จะมารู้จักโรคที่หลายๆคนอาจคาดไม่ถึงนั่นคือ โรคจิตเภท(Schizophrenia) มาฟังผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทมักจะมีอาการผิดปกติทางความคิด พฤติกรรมและความรู้สึกอันเนื่องมาจากการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองที่ควบคุมความคิดและพฤติกรรมเสียสมดุล จึงทำให้เกิดมีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตชัดเจน โดยโรคนี้มีลักษณะเรื้อรังอาการที่พบมีดังต่อไปนี้

1.ความผิดปกติทางความคิด คือ อาการหลงผิด เช่น หวาดระแวงว่าจะมีคนคอยจับผิด ติดตามนินทา ทำร้ายเลียนแบบ หรือหลงผิดคิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญ เป็นเทพเจ้า เป็นเจ้าชาย –เจ้าหญิง เป็นบุคคลสำคัญกลับชาติมาเกิด

2. ความผิดปกติทางการรับรู้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาพูดคุยด้วย หรือมักได้ยินเสียงคนวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เห็นตัวคนพูดชัดเจน

3. ความผิดปกติด้านพฤติกรรม คือ แสดงบุคลิกท่าทางไม่เหมาะสมเช่น วุ่นวายกว่าปกติพูดจาเนื้อหาแปลกๆจับใจความได้ยาก หรือนิ่งเฉยมากผิดปกติเช่น ไม่ขยับตัว ไม่ขยับแขนขา ไม่ยอมลุกไปไหนหรือแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม เช่น เดินไหว้ เดินกราบสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา พูดพึมพำยิ้มหัวเราะอยู่คนเดียว หรือไม่ค่อยดูแลสุขอนามัยและความสะอาด เช่นไม่อาบน้ำ ไม่ดูแลเสื้อผ้า ใบหน้าทรงผมปล่อยปละละเลยร่างกายจนดูสกปรก

4. ความผิดปกติด้านความรู้สึก เช่น ไม่แสดงอารมณ์หรือแสดงอารมณ์น้อยกว่าปกติ ขาดความกระตือรือร้น ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตหรือแสดงอารมณ์ออกมาไม่เหมาะสมกับบริบทรอบตัว ก้าวร้าวมากกว่าปกติในผู้ป่วยที่มีความคิดหวาดระแวง

5. ความผิดปกติด้านสังคมหรือบกพร่องในหน้าที่การงานอย่างชัดเจน เช่น การเรียน การงาน สัมพันธภาพกับผู้อื่นแย่ลง ชอบเก็บตัว ไม่เข้าสังคม ไม่ดูแลตนเอง ทำงานไม่ได้ และ ระยะเวลาที่เจ็บป่วย อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการต่อเนื่องมาเป็นปีหรือหลายปี ช่วงอายุที่พบเกิดโรคคือ ระหว่าง 15-24 ปี ถ้าพบว่าคนรู้จักหรือญาติพี่น้อง มีอาการในลักษณะแบบนี้ ควรพาไปพบจิตแพทย์ ยิ่งไปพบจิตแพทย์เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้โอกาสในการรักษาหายมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น