กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 3 จากรุ่งเรืองสู่เสื่อมสลายภายใต้อำนาจพม่า

ต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 2 เมืองเชียงใหม่ในสมัยเจริญรุ่งเรือง ทราบว่าอาณาจักรล้านนานั้นเจริญรุ่งเรื่องขึ้นมาก และเริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัย “พญาแก้ว”

วันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” มาเสนอเรื่องราวกว่าจะเป็นเมืองเชียงใหม่เป็นตอนที่ 3 ดังนี้

เมื่อกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่ทัพเชียงตุงในการทำสงครามขยายอาณาจักร ไพร่พลในกำลังล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปีนั้นเกิดอุทกภัยใหญ่หลวงขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายและผู้คนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองเริ่มอ่อนแอเกิดความไม่มั่นคง หลังจาก “พญาแก้ว” สิ้นพระชนม์ก็เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ

หลังจากพระองค์ปกครองได้ 13 ปี พระองค์ก็ถูกยึดอำนาจจากพระโอรสของพระองค์คือ “ท้าวซายคำ” เหล่าขุนนางจึงได้อัญเชิญท้าวซายคำขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา ท้าวซายคำครองราชย์ในปี พ.ศ. 2081 ขณะมีพระชนมายุ 24 พรรษา แต่ท้าวซายคำราชย์ได้แค่ 5 ปี ก็ถูกขุนนางปลดออกจากราชย์สมบัติ ต่อมาพญาเมืองเกษเกล้าได้ถูกอัญเชิญให้ขึ้นครองราชย์ แต่พระองค์ครองราชย์ได้แค่ 2 ปี พระองค์ก็ทรงเสียพระจริต พระองค์จึงถูกปลงพระชนม์ในที่สุด

พระนางจิรประภาเทวี

ถัดมาในสมัย “พระนางจิรประภาเทวี” (ครองราชย์ พ.ศ. 2088–2089) หรือ มหาเทวีจิรประภา เป็นพระอัครมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 12 แห่งอาณาจักรล้านนาสืบต่อจากพระราชสวามี ซึ่งในรัชกาลของพระนางหัวเมืองฝ่ายเหนือเกิดการระส่ำระสายเนื่องจากบ้านเมืองเกิดการแย่งอำนาจระหว่างขุนนางกับเจ้านาย บ้านเมืองอ่อนแอมีศึกสงครามขนาบทั้งทิศเหนือและใต้ ทั้งกองทัพพม่า และอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาที่ยกทัพมาถึงเชียงใหม่

พระนางปกครองบ้านเมืองเพียงแค่เพียงปีเศษก็ได้สละราชบัลลังก์แก่ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” พระราชนัดดา (หลานยาย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ “โพธิสารราช” แห่งอาณาจักรล้านช้าง และภายหลังพระองค์และพระราชนัดดาได้เสด็จไปประทับในนครหลวงพระบางและมิได้นิวัติกลับมายังนครเชียงใหม่อีกเลยตลอดปลายพระชนม์ชีพ

สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช

กำเนิดสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช

“สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” มีพระนามเดิมว่า “เจ้าเชษฐวังโส” ในสมัยเยาว์วัยของพระองค์นั้น มีจิตใจใฝ่การศึกษาเล่าเรียน ฉลาดหลักแหลม และมีจิตเอื้ออารี พระบิดาทรงพระนามว่า “พระเจ้าโพธิสาร” (ครองราชย์ใน พ.ศ. 2063-2090) ซึ่งเป็นเชื้อสายของกษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ เพราะพระราชบิดาของพระองค์นั้นเป็นลูกของ “พญาเกสเชษฐราช” เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งพญาเกสเชษฐราชได้ส่งพระเจ้าโพธิสารไปปกครองนครศรีสัตนาคนหุตเชียงทอง (หลวงพระบาง)

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 14 พรรษา พญาเกสเชษฐราช พระอัยกาของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้เสด็จสวรรคต ฝ่ายเสนาอำมาตย์และพระสงฆ์องค์เจ้าผู้ใหญ่ จึงได้ปรึกษาหารือเห็นดีงามพร้อมกันว่า “เจ้าฟ้าไชยเชษฐาราชกุมาร” สมควรจะได้ปกครองราชสมบัติในนครเชียงใหม่แทนพระอัยกา แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่นั้น พระนางมหาเทวีจิรประภา พระอัครมเหสีของพญาเกสเชษฐราช ได้ขึ้นครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2088-2089 เพื่อรอหลานชายจากเมืองหลวงพระบาง ได้เสด็จมาครองราชย์สืบต่อพระนาง

พระไชยเชษฐาธิราชกลับสู่เมืองเชียงใหม่
พ.ศ. 2090 พระเจ้าโพธิสารราชผู้เป็นพระบิดาก็เสด็จสวรรคต เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็ได้แต่งพระราชสาส์นฉบับหนึ่งแจ้งข้อราชการในนครศรีสัตนาคนหุตเชียงทอง (หลวงพระบาง) ไปถวายระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่นครเชียงใหม่ โดยพระยายศลือเกียนเป็นผู้นำขึ้นไปถวาย ครั้นทราบจากราชสาส์นแล้วพระองค์ก็ทรงกรรแสง เพราะยังไม่ได้พบท่านก่อนจะสวรรคต

ดังนั้น พระองค์ได้ทรงปรึกษาหารือกับเสนาอำมาตย์ว่า จะไปเยี่ยมพระศพและทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดา และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง ก็จะนำเอาพระแก้วมรกตไปด้วย “ท้าวเพีย” ก็ได้จัดยุทธโยธาจตุรงค์พร้อมเพียงแล้ว พระองค์ก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงส์ และพระแก้วขาว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่เดินทางไปจนถึงพระนครศรีสัตนาคหุตเชียงทอง

พระเจ้าไชษฐากุมาร ได้ปกครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินในนครเชียงใหม่ พ.ศ.2091 ได้เพียงแค่ปีเดียว เพื่อเป็นสิริมงคล ในการเสวยราชสมบัติของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนั้น เหล่าเสนาอำมาตย์จึงได้ไปอัญเชิญพระมหามณีรัตน์ปฎิมากรแก้วมรกต ที่ประดิษฐานอยู่ที่เมืองลำปางกลับมาไว้ที่เมืองเชียงใหม่

เมื่อทรงจัดการบ้านเมืองได้สงบเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงทรงพระราชทานเพลิงศพพระราชบิดา เมื่องานพระราชพิธีศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหล่าเสนาอำมาตย์ราชมนตรี รวมถึงเหล่าพระสงฆ์ทั้งหลายจึงพร้อมกันอภิเษก “พระไชยเชษฐาธิราชเจ้า” ขึ้นเป็น พระเจ้าแผ่นดินปกครองนครเชียงทอง ถวายพระนามว่า “พระอุภัยภูธรบวรไชยเชษฐาภูวนาถาธิปัตศรีสัตนาคนหุต” ด้วยที่พระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองทั้งสองนคร พระองค์จึงทรงแต่งตั้ง “พระยาศรีสัทธรรมไตรโลก” ผู้มีความชอบขึ้นเป็น “พระยาจันทบุรีศรีสัทธรรมไตรโลกน้าออก” เป็นพระเจ้าปกครองเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.2093

ปี พ.ศ. 2094 สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้มีพระราชโองการแต่งให้เสนามนตรีไปบอกทางนครเชียงใหม่ว่า พระองค์จะไม่ได้เสด็จกลับมานครเชียงใหม่แล้ว ส่วนราชการบ้านเมืองขอมอบให้ “พระนางเจ้าจิระประภา” เป็นผู้ดูแลแทนต่อไป เมื่อฝ่ายเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ได้ทราบดังนี้ ก็ทะเลาะกัน แย่งความเป็นใหญ่จนเกิดศึกกลางเมือง พระองค์ทรงทราบเรื่อง จึงมีพระราชโองการให้ “พระยาเมืองแพร่” “พระยานครล้านช้าง” และ “พระยาทัวเวียง” ยกกำลังขึ้นไปปราบปรามจนสงบลง

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์

เจ้าเมกุฏิ ขึ้นสู่อำนาจ
ช่วงปี พ.ศ. 2091-2094 ล้านนาได้เข้าสู่กลียุคอีกครั้ง สุดท้ายขุนนางเสนาอำมาตย์นครเชียงใหม่มีมติว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงไม่เสด็จกลับมาแล้ว จึงเห็นควรให้อัญเชิญ “พระเมกุฏิสุทธิวงศ์” เจ้านายเมืองนายผู้มีเชื้อสายแห่งราชวงศ์มังรายมาเสวยราชย์แทนในปี พ.ศ.2096 ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ ให้ลาสิกขาออกมาอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งนครเชียงใหม่ เมื่อสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงทราบก็พิโรธเป็นอย่างมาก เพราะเมืองเชียงใหม่ยังเป็นของพระองค์อยู่

ไชษฐาธิราชทวงคืนเมืองเชียงใหม่
ปี พ.ศ.2098 พระองค์จึงทรงยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ในขณะนั้น สมเด็จพระไชษฐาธิราช ได้แต่งตั้งให้พระยาเมืองกลาง เป็นแม่ทัพยกไปตีเชียงแสน ตัวแสนน้อยหนีไปเมืองตองอู (เมืองหงสาวดี) พระองค์เสด็จขึ้นไปประทับที่เมืองเชียงแสน และตั้งนครเชียงแสนเป็นราชธานีทรงปกป้องรักษาไพร่พลช้างม้าอยู่ที่นั่น นานถึง 8 เดือน เพื่อจะตีเอานครเชียงใหม่คืนมาให้ได้

ฝ่ายแสนน้อยที่หนีไปนั้น ได้ไปเชิญเจ้าฟ้าหงสาวดีบุเรงนองให้มาตีเมืองเชียงใหม่ “เจ้าฟ้าหงสาวดี” จึงมีราชสาส์นโดยให้น้อยเจียถือไปถวายสมเด็จพระไชษฐาธิราชอยู่เมืองเชียงแสน มีข้อความว่า

“เมืองเชียงใหม่เป็นของลูกเรา เราก็รู้เป็นอย่างดี แต่พ่อเจ้าหมื่นกวาน กับนายประเทียบวิชุลได้มาบอกเล่าถึงอังวะโน้น พระเมกุติ ทั้งแสนน้อยเขาได้ชิงเอาเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว บัดนี้ เราผู้พ่อก็ได้รับพระเมกุติและแสนน้อยไว้แล้ว บัดนี้เมืองเชียงใหม่นี้ ลูกเราจะมาเอา เราผู้พ่อจักมอบให้”

สมเด็จพระไชษฐาธิราช ได้ทรงทราบพระราชสาส์นนั้นแล้วทรงตอบกลับไปว่า “เมืองเชียงใหม่นี้หากเป็นเมืองของเราผู้ลูกแท้ พ่อเราตาย เรากลับไปบวช และสร้างมหาธาตุทั้งวิหารให้ทานเป็นการตอบแทนคุณพ่อเรา เราจึงฝากเมืองไว้กับพระสงฆ์และเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย เขาไม่อยู่ในคำสัตย์ที่ตั้งไว้เลยเอาพระเมกุติมาตั้งแทน บัดนี้พ่อเราได้เมืองเชียงใหม่แล้วเราขอถวายมอบให้แก่พ่อเรา เราจักกลับไปเมืองล้านช้างดังเดิม”

พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงพยายามแก้ไขปัญหาการขาดฐานอำนาจในเชียงใหม่ด้วยการนำขุนนางจากเมืองนายติดตามเข้ามา ขุนนางท้องถิ่นล้านนาจึงไม่พอใจนักที่ถูกลดทอนบทบาทลง ซึ่งใน ตำนานเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า การกระทำของพระองค์ผิดจารีตล้านนาเพราะใช้จารีตเงี้ยว ส่งผลให้บ้านเมืองเสื่อม ทั้งทรงรักษาสัมพันธภาพอันดีกับเมืองนายอย่างใกล้ชิด หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสงคราม อีกฝ่ายหนึ่งก็จะช่วยร่วมรบด้วย การกระทำของพระเมกุฏิสุทธิวงศ์เสมือนการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน เพราะทรงช่วยเหลือเมืองนายที่ถูกพระเจ้าบุเรงนองทรงล้อมไว้ ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงดำเนินการปราบปรามล้านนาในเวลาต่อมา

ล้านนาเข้าสู่ใต้การปกครองของพม่า
ในช่วงเวลาที่ล้านนาอ่อนแอที่สุด พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้ระยะเวลาเพียง 3 วันในการยึดเมืองเชียงใหม่ และเสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่าในปี พ.ศ. 2101 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบ แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงให้เกียรติแก่พระเมกุฏิให้ครองเชียงใหม่ตามเดิม

สรุป
ในยุคนี้ขุนนางมีอำนาจมากพอที่จะกำหนดบุคคลที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์ในเมืองเชียงใหม่ได้ ความอ่อนแอนี้เองเป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองสามารถยึดอำนาจได้ใน พ.ศ.2101 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ หลังจากนั้นพม่าได้ให้เจ้านายเมืองเหนือปกครองต่อจนกระทั่งหมดสายสกุลของพญามังราย พม่าจึงได้จัดให้ข้าหลวงจากเมืองพม่ามาปกครองหัวเมืองเหนือทั้งหมด และแยกการปกครองในหัวเมืองเหนือต่าง ๆ ออกจากกัน ซึ่งเรื่องราวความวุ่นวายของยุคนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป เราจะกล่าวเล่าต่อในบทความที่จะนำมาให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามต่อไปในครั้งหน้า เป็นตอนที่ 4 โปรดติดตาม

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : หนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หนังสือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี, www.hugchiangkham.com, th.wikipedia.org
รูปภาพจาก : th.wikipedia.org

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น