สนามเชียงใหม่ 700 ปี พร้อมรับ ศึกลูกหนังเยาวชน ยู 23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย ในต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 21 กพ. 62 นพดล เกิ้งบุรี ผู็อำนวยการ กกท. ภาค 5 พร้อม ดร. จารุวัฒน์ สัตยานุรักษ์ รองอธิการบดี สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตเชียงใหม่ ร่วมให้การต้อนรับ คณะกรรมการจาก สมาคมฟุตบอลฯ และ กรรมการจาก เอ เอฟ ซี ที่ส่งทีมงานขึ้นเหนือ ตรวจสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ที่จะเป็นสนามดวลแข้ง ฟุตบอลเยาวชน อายุไม่เกิน 23 ปี และ สนามฝึกซ้อม สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ และ สนาม สพล. เชียงใหม่

ในปีหน้ามี 4 ชาติรอเสียบจัดบอลเอเชียแทนไทย ประมาทอาจหลุดมือ! เผย 4 ชาติรอเสียบแทนไทย จัดศึกใหญ่ “23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย” ต้นปีหน้า คัดไปโอลิมปิก “เอเอฟซี” ส่งทีมงานตรวจยิบ 6 สนามแข่ง ก่อนตัดเหลือ 4 สนาม “ต้องทำให้ได้ตามข้อกำหนดแบบเป๊ะๆ หวังต่อยอดจัดเยาวชนโลก

ตามที่ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลอายุไม่เกิน 23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย 2020 ต้นปีหน้า รายการนี้คัด 3 ทีมไปโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เตรียม 6 สนามจัดแข่งขัน คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามกีฬา สมโภช 700 ปี จังหวัดเชียงใหม่, ลีโอสเตเดี้ยม ของบีจี ปทุม ยูไนเต็ด, สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา, เอสซีจี สเตเดี้ยม ของ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และ สนามฟุตบอลภายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยฯ(กกท.) หัวหมาก กกท., สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ประชุมร่วมกับผู้แทนสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย(เอเอฟซี) ที่เดินทางมาตรวจความพร้อม โดยหลังการประชุม พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมลูกหนัง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่เอเอฟซี มาตรวจทั้ง 6 สนามดังกล่าว และท้ายที่สุดจะใช้ 4 สนาม จัดการแข่งขัน ทุกสนามต้องตรงตามข้อกำหนดของเอเอฟซี

ก่อนหน้านี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. จะปรับปรุงสนามหลายแห่ง ตนได้แจ้งว่า ให้รอ เอเอฟซี มาให้ความรู้ก่อน เพื่อได้ปรับปรุงให้ตรงตามข้อกำหนด ตรงตามเป้าหมาย ทาง ผู้ว่าการ กกท. ก็ยินดี ซึ่งตนต้องขอขอบคุณ

ประมุขลูกหนังไทย กล่าวด้วยว่า ฟุตบอลรายการนี้ เป็นรายการสำคัญ สมาคมฯ ทำลำพังไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ คือ กกท. รวมถึงรัฐบาล หากไม่สามารถทำได้ตามข้อกำหนดของเอเอฟซี มีถึง 4 ประเทศที่รอไทยพลาดโอกาส

ตอนนี้แม้ไทยได้สิทธิแล้ว แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. ตอนนั้นต้องให้คำมั่นว่าจะสามารถจัดการแข่งขันได้ ตามข้อกำหนด ซึ่งหากไทยได้จัดตามเดิม ก็จะมีผลต่อการที่มีแผนเสนอตัวจัดฟุตบอลอายุไม่เกิน 20 ปี ชิงแชมป์โลก

จากนั้น เอเอฟซี ได้ตรวจสนามราชมังคลากีฬาสถาน และจะตรวจทั้งสนามแข่ง สนามซ้อม จนถึงวันที่ 26 ก.พ. และจะให้การบ้านเพื่อให้ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กับ กกท. นำข้อบกพร่องต่างๆไปทำแผน และปรับปรุง พร้อมส่งรายงานภายในช่วงเดือนเม.ย. 62

โดยทาง สมาคมฯ จะนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุง และส่งข้อมูลให้ เอเอฟซี ในเดือน พ.ค.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอเอฟซี ได้มีหลักเกณฑ์หลายข้อ ของสนามแข่งขัน ซึ่งในด้านความจุ กำหนดไม่ต่ำกว่า 10,000 ที่นั่ง ทั้ง 6 สนาม ต่างผ่านเกณฑ์ ส่วนไฟส่องสว่าง กำหนดไม่ต่ำกว่า 1,800 LUX มีเพียงสนามเมืองทอง ที่ไม่ถึง คือ 1,600 LUX ส่วนสาเหตุที่ไม่มีชื่อสนามศุภชลาศัย เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกกท. ทำให้ไม่สะดวกในการปรับปรุง เช่นเดียวกับการเลือกสนามต่างจังหวัดที่ เชียงใหม่ และ นครราชสีมา เพราะอยู่ในความรับผิดชอบของ กกท. สามารถดำเนินการปรับปรุงได้ง่าย ขณะที่สนามราชมังฯ ก็เป็นอีกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ของ กกท.

ส่วนสนามซ้อม 10 สนาม ที่เตรียมไว้ได้แก่ สนาม ฟุตบอล 2 สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สนามกีฬาเทศบาลนคร.เชียงใหม่, สนามซ้อม เอสซีจี เมืองทอง, สนามกีฬาจังหวัดนนทบุรี, สนามอินทรีจันทรสถิตย์ ม.เกษตรศาสตร์, สนามบุณยะจินดา, สนามภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (นครราชสีมา), สนามกีฬากองทัพบก, สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง, สนามภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ สนามยามาโอกะ (ปทุมธานี)
.

..

ร่วมแสดงความคิดเห็น