โรคพิษสุนัขบ้า คร่าชีวิตได้ !! ทน.เชียงใหม่ ฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เห็บ หมัด ให้กับสุนัขและแมว ฟรี!!

เทศบาลนครเชียงใหม่ เล็งเห็นความสำคัญและเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ ที่รักและชอบสุนัข แมว และสัตว์อื่นๆ จึงเปิดบริการซีดวัคซีนให้ฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอย่างใด อีกทั้งเป็นการช่วยให้ประชาชน ประหยัดค่าใช้ภายในตัวอีกด้วย หากไปฉีดวัคซีนเองตามสถานบริการเอกชน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตัวละเกือบพันบาท อีกทั้งต้องเสียเวลาเดินทางนำสุนัข แมว อีกมากมาย ซึ่งทางเทศบาลฯ ได้บริการประชาชนในพื้นที่ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เมื่อถึงเวลาก็จะมาให้บริการเช่นนี้ เป็นประจำทุกๆปี สอบถามเทศบาลนครเชียงใหม่ หรือโทรสอบถามได้ที่ 053259136 ในวันเวลาราชการ

โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร

โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

คนติดโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ชนิดใดบ้าง

โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แมว ค้างคาว วัว ลิง ชะนี กระรอก กระต่าย รวมถึงหนู เป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมว เป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้ามาสู่คนได้บ่อยที่สุด โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอก หรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์ หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร

หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ป่วยจะแสดงอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปี กว่าจะมีอาการก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด จำนวนและความลึกของบาดแผล รวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด อาการของโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ เสียวแปล๊บคล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะที่จำ เพาะของโรค ระยะนี้อาการประมาณ 2-10 วัน

2. ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง กลืนลำบาก รวมถึงกลัวน้ำ อาการจะมากขึ้น หากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้มีอาการประมาณ 2-7 วัน

3. ระยะท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันสั้น

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อถูกสัตว์กัด

1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสบู่ และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผลและล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล เช่น ยาโพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น

2.จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ

3.ไปพบแพทย์ทันที พร้อมนำสมุดวัคซีนหรือประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และบาดทะยักไปด้วย เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า เช่น ถูกกัดหรือข่วน แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงวัคซีนป้องกันบาดทะยักและยาฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ในกรณีที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้อิมมูโนโกลบุลิน ซึ่งมีภูมิต้านทานโรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จะฉีดประมาณ 3-5 ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูง สามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพสูง หากไปรับการฉีดตามแพทย์นัดทุกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น