ถนนสายต้นยาง ถนนสายชีวิตในปริศนาธรรมชาติ

ความอื้ออึงของเหตุและผลที่แต่ละฝ่ายนำเสนอสู่สังคม ต่อกรณีการตัดโค่นต้นยางนา ในทล.106 ซึ่งมีชื่อเรียกหลายแบบ ตามเจตนาที่จะประสงค์สื่อออกไป เช่น ถนนต้นยาง , ถนนประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต,ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งแต่มีถนนสายนี้ เรื่องราวการมีขึ้นของต้นยางนา 2 ฟากฝั่งถนน ก็มีเรื่องให้ชวนฉงนพร้อมๆกับคำถามว่า แล้วจะเชื่อข้อมูลใด เอกสารรายงาน ก.มหาดไทยที่มหาอำมาตย์ตรี พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ ข้าหลวงนครเชียงใหม่ ระบุว่า “..ถนนเมืองนครเชียงใหม่….ได้ทำเสร็จแล้วเมื่อ7 พค.รศ.119 (พศ.2443 ) …เจ้าราชบุตร (ขณะนั้นคือเจ้าน้อยคำตื้อ ณ เชียงใหม่)แม่กองใหญ่ได้สั่งให้ปลูกต้นยาง..”

เรื่องเล่าขานของชาวบ้าน เล่าสืบกันมาว่า ครั้งโบราณ นครเชียงใหม่กับนครลำพูน ไม่มีเขตแดนที่แน่นอนเจ้าผู้ครองนครทั้ง2 จึงกำหนดเงื่อนไข แบบไม้หมายเมืองฝ่ายไหนปลูกถึงไหนก่อนจะได้แดนถึงนั้น โดยนครเชียงใหม่เลือกปลูกต้นยางนาส่วนนครลำพูน เลือกปลูกต้นขี้เหล็ก ปลูกเรื่อยมาจนบรรจบเขตแบ่งแดน 2 อำเภอในปัจจุบัน ระหว่างอ.สารภีกับ อ.เมือง ลำพูน

ข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.5 ม.58/46 เรื่องก่อสร้างถนนหนทาง แลตะพาในมณฑลพายัพ ระบุ ทำนองเดียวกับเอกสารอำเภอสารภี เรื่องประวัติความเป็นมาของต้นยางนา .ที่มีว่า”..พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงมณฑลพายัพ นำต้นยางนามาปลูกตลอดสองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน พอเข้าเขตลำพูนให้ปลูกต้นขี้เหล็ก คาดว่าน่าจะปลูกราวๆ พ.ศ. 2445..” รายละเอียดตรงนี้ สอดรับกับบันทึกบอกเล่าของชาวบ้านจากรุ่นสู่รุ่นที่ว่า ..เคยได้ยินพ่อ ปู่ทวด ของผู้เล่าที่เป็นทั้งข้าราชการบำยาญ อดีตกำนัน และชาวบ้านที่มีอายุ 70-80 ได้ยินคนเฒ่าคนแก่สมัย ปลายรัชสมัย ร.5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 ช่วยกันปลูกต้นยางนา และดูแลต่อๆกันจนเติบใหญ่

ข้ามเวลาจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน จากต้นยางนาที่มีอยู่กว่า 2 พันต้น เหลือราวๆ900 กว่า ทุกต้นมีหมายเลขกำกับเพื่อการดูแล รักษา หลังจากค่อยๆหายไปทีละต้น ด้วยเหตุจากความจงใจ หรือการกระทำที่อ้างเพื่อเป้าประสงค์ต่างๆและหักโค่นล้มตามธรรมชาติ ด้วยอายุขัยของบางต้นที่ไม่สมบูรณ์ก็มี และกรณีล่าสุดกับ 2 ต้นที่หน่วยงานท้องถิ่น ตัดไป บริเวณสี่แยกกองทราย ต้นหนึ่งตายเพราะการก่อสร้างถนน ส่งผลให้ระบบรากจนยืนต้นตาย ส่วนอีกต้นแกนกลางลำต้นมีโพรงที่เกิดจากแมลงเข้าไปกัดกินทำให้เริ่มผุ หากไม่ตัดมีโอกาสจะเกิดการหักโค่นลงได้

ความตื่นตัวในการอนุรักษ์ถนนสายต้นไม้ ในเชียงใหม่ มีมานาน ตัวอย่างถนนสายต้นพะยอม แถวๆหน้าวัดสวนดอก ถ้าจินตนาการถึงอุทยานสวนพะยอม สมัยพระเจ้ากือนา เมื่อเกือบ 600 ปีก่อน ย่านนั้นคงตลบอบอวลด้วยความงามพิสุทธ์ สมดั่งนครบุปผาสวรรค์ เฉกเช่น ถนนสายสันกำแพง ต้นจามจุรีโรยลา ไปตามแผนพัฒนาเมือง ไม่แตกต่างจาก ถนนสายต้นยางที่มีกิจกรรมหลากรูปแบบ ส่งผลต่อจำนวนต้นยางนาลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงออกประกาศให้ “ถนนสายต้นยางนาเชียงใหม่-ลำพูน” เป็นเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เมื่อ 10 มีค. 2558 มีระยะเวลาใช้บังคับ 5 ปี

ขอบเขตพื้นที่คุ้มครอง เริ่มวัดจากแนวเส้นศูนย์กลางของทล. 106 (ถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ออกไป 2 ด้านๆละ 40 ม. เริ่มตั้งแต่ลำเหมืองพญาคำ อ.เมืองเชียงใหม่ ถึงสุดเขตต.อุโมงค์ อ.เมืองลำพูน ห้ามกระทำหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อต้นยางนา และต้นขี้เหล็ก กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารตามความเหมาะสมในแต่ละบริเวณที่กำหนดแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล รวมทั้งส่งเสริมและบำรุงรักษาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

กล่าวกันว่าความเข้มแข็ง ในสำนึกรักต้นยางนา ทรงพลังพอๆกับเสียงเพรียกหาความเห็นใจของชาวบ้านบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากต้นยางนา ตามฤดูกาล และผลพวงการกระทำต่างๆที่สร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สินคงเป็นเรื่องยากที่จะด่วนสรุปว่า ถนนสายประวัติศาสตร์ มีตำนานยิ่งใหญ่ ต้องไม่ถูกทำลาย ต้นยางนาต้องไม่ลดลงหายไปกับวิถีเมือง ทั้งๆที่ในข้อเท็จจริงแล้ว สรรพชีวิตล้วนมีความเปลี่ยนแปลง ความทรงคุณค่าเสมือนเป็นปริศนาธรรมชาติ ที่ผู้คนต้องแยกแยะ วิถีดำรงอยู่อย่างปกติสุข กับการดูแลรักษาสิ่งดีๆ ควรเป็นไปอย่างมีเหตุ มีผล น่าจะเป็นทางออก ทางรอดของถนนสายแห่งชีวิตสายนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น