กว่าจะเป๋นเจียงใหม่ ตอนที่ 4 ล้านนาในยุคที่พม่าครอบครอง

จากความเดิมตอนที่แล้ว หลังจากพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบต่อพระเจ้าบุเรงนอง ล้านนามีฐานะเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรพม่า และในวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” ได้ดำเนินเล่าเรื่องราวต่อเป็นตอนที่ 4 แล้วดังต่อไปนี้

พระเจ้าบุเรงนองแห่งอาณาจักรพม่า

ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นศตวรรษที่ 24 เนื่องจากเป็นช่วงที่พม่าประสบปัญหาการเมืองภายใน เมื่อพม่าแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้วจะยกทัพมาปราบล้านนา ซึ่งอย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ล้านนาจะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งแต่ “สมัยพระเจ้าบุเรงนอง” (พ.ศ.2101) จนถึง พ.ศ.2317 “สมัยพระเจ้าตากสิน” ล้านนาจึงตกเป็นเมืองประเทศราชสยาม ล้านนาในสมัยพม่าปกครองเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 216 ปี ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้แบ่งตามพัฒนาการเป็นสองสมัย

ราวปี พ.ศ.2101 ในช่วงเวลาที่ล้านนาอ่อนแอที่สุด พระเจ้าบุเรงนองทรงใช้ระยะเวลาเพียง 3 วันในการยึดเมืองเชียงใหม่ และเสียเมืองเชียงใหม่แก่พม่าในปี พ.ศ. 2101 พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ทรงยอมศิโรราบ แต่พระเจ้าบุเรงนองก็ทรงให้เกียรติแก่พระเมกุฏิให้ครองเชียงใหม่ตามเดิม

ด้านการบริหารบ้านเมืองของเชียงใหม่ พระเจ้าบุเรงนองยังทรงให้พระเมกุฏิมีส่วนร่วมในการปกครองภายใต้การพระราชบัญชาของพระองค์ และมีพระราชบัญชาให้ขุนนางพม่าที่อยู่รั้งเมืองเชียงใหม่เคารพและน้อมรับพระราชบัญชาของกษัตริย์เชียงใหม่เสียด้วย ดังจะเห็นได้ว่าแม้ล้านนาจะตกเป็นประเทศราชของพม่าแล้ว แต่พระมหากษัตริย์พม่ายังทรงยกย่องให้เกียรติและยอมรับสถานะของพระเมกุฏิในฐานะเจ้าผู้ครองเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์

ในช่วงที่พระองค์ปกครองเชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่า กองทัพพันธมิตรล้านนาที่นำโดยเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองเชียงราย และเจ้าเมืองเชียงของซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเข้าโจมตีกองทัพพม่าในเชียงใหม่หลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จกลับหงสาวดีราว 2-3 เดือน ด้วยเหตุนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทัพใหญ่มาช่วยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2101 ประกอบไปด้วยทัพม้า 6,000 ตัว ช้าง 500 เชือก และทหาร 150,000 นาย สามารถป้องกันเชียงใหม่ได้ และสามารถรุกขึ้นไปตีเมืองเชียงรายแตก พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและบรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่กำลังล้อมเมืองเชียงแสนอยู่จึงหนีออกไป

ต่อมาพระเมกุฏิสุทธิวงศ์และพระยากระมลเจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสนร่วมกันคิดกบฏต่อกรุงหงสาวดี เพราะไม่ยอมส่งทัพช่วยพม่ารบกับอาณาจักรอยุธยาเมื่อคราวสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ. 2106 โดยมีเจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองลำปางร่วมก่อกบฏด้วยโดยมีพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชสนับสนุน

พระนางวิสุทธิเทวีกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์มังราย

แต่คราวนี้หลังพม่าเสร็จศึกที่อยุธยา ก็ยกทัพขึ้นมาปราบล้านนาอีกครั้ง บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่เคยลุกขึ้นมาต่อต้านกลับพากันหลบลี้ไปล้านช้างเสียหมดยกเว้นพระเมกุฏิที่ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดีและจัดบรรณาการมาถวาย โดยทรงอ้างว่าพระยาแสนหลวง เสนาบดีผู้รั้งเมืองเชียงแสนกับพระยาสามล้าน เจ้าเมืองลำปาง เจ้าเมืองน่าน และเจ้าเมืองเชียงรายสมคบกันก่อกบฏ ทว่าความผิดที่พระเมกุฏิฝ่าฝืนการปฏิบัติคำสั่งถือเป็นโทษร้ายแรง เป็นเหตุให้พระเจ้าบุเรงนองถอดพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ออกจากพระราชบัลลังก์ล้านนาและพาตัวไปหงสาวดีเป็นการลงทัณฑ์

จากนั้นพระเจ้าบุเรงนองจึงตั้ง “พระนางวิสุทธิเทวี” ขัตติยนารีผู้มีเชื้อสายราชวงศ์มังรายครองล้านนาสืบต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันเพื่อมิให้เจ้าแผ่นดินล้านนาพระองค์ใหม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า เพราะฝ่ายพม่าได้ยกไพร่พลและขุนนางรามัญไปอยู่ในเมืองเชียงใหม่แล้ว

แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า แต่พระองค์ยังมีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูง โดยพระนางวิสุทธิเทวีมีพระสถาภาพเป็นมหาเทวีผู้ทรงอำนาจสูง ทรงผ่านการราชาภิเษกสองครั้ง พระองค์มีพระราโชบายเพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอดตลอดรัชสมัยของพระนางที่ให้ความร่วมมือกับพม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากกษัตริย์พม่า รวมทั้งขุนนางพม่าที่รั้งเมืองเชียงใหม่ ดังการพบเมื่อคราวมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระองค์ได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะและหงสาวดีที่มาประจำการในเชียงใหม่ พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี

ในช่วงรัชสมัยของพระนาง พระนางได้ยอมรับและสนับสนุนพระราชอำนาจของราชสำนักบุเรงนองตลอดรัชกาลซึ่งแตกต่างจากนโยบายของท้าวแมกุ มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระนางได้จัดทัพล้านนาไปช่วยพม่าทำศึก ในคราวตีกรุงศรีอยุธยาด้วย ในปี พ.ศ. 2112 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนองที่สอดประสานกับนโยบายของผู้ปกครองพม่าที่มุ่งประคับประคองมิตรภาพของสองอาณาจักรให้ยั่งยืน

พม่าจึงไม่แทรกแซงปรับเปลี่ยนจารีตท้องถิ่น แต่ยังศึกษาและปกปักจารีตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของบ้านเมือง อาณาราษฎร และคงอยู่ซึ่งอำนาจของพระนางเอง ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระนางจะมีขีดจำกัด

พระนางวิสุทธิเทวีได้พิราลัย เมื่อ พ.ศ. 2121 พระนางได้รับการถวายเกียรติยศโดยสร้างปราสาทเป็นที่ตั้งพระศพตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และใช้ช้างลากปราสาทศพ โดยเจาะกำแพงเมืองออกไปฌาปนกิจที่วัดโลกโมฬี ถือกันว่าการทำศพครั้งนี้เป็นแบบอย่างการปลงศพเจ้านายเมืองเหนือสืบมา

ซึ่งหลังจากปี พ.ศ.2207 ฐานะของล้านนาเปลี่ยนไปกลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรพม่าโดยสมบูรณ์ โดยก่อนหน้านี้ ล้านนาเป็นมณฑลหนึ่งของราชอาณาจักรพม่า เป็นเขตที่มีการปกครองตนเอง เจ้าเมืองคนเดิมสามารถปกครองตนเองได้

บัดนี้ (หลังปีพ.ศ.2207) ฐานะของล้านนาเปลี่ยนไปกลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรพม่าโดยสมบูรณ์ กษัตริย์พม่าส่งขุนนางชาว พม่ามาปกครองร่วมกับชาวล้านนา กำหนดให้ขุนนางพม่ามีตำแหน่งสำคัญและมีอำนาจอย่างแท้จริง

ซึ่งในช่วงที่ล้านนาเป็นประเทศราชของพม่านี้ได้มีกษัตริย์ปกครองร่วมกับพม่าดังนี้

  • เจ้าเมืองแพร่
  • อุปราชอึ้งแซะ
  • เจพูตราย
  • มังแรนร่า
  • เทพสิงห์
  • องค์คำ
  • องค์จันทร์
  • เจ้าขี้หุด
  • โป่อภัยคามินี
  • โป่มะยุง่วน
รูปปั้นของเทพสิงห์วีรบุรุษผู้ต่อต้านข้าศึกพม่า

ในยุคของ “เทพสิงห์” เดิมเป็นชาวเมืองยวมใต้มีใจเจ็บแค้นที่ถูกข้าศึกชาวพม่าย่ำยีบีฑามาช้านาน จึงได้รวบรวมสมัครพรรคพวกยกเข้าไปปล้นเมืองเชียงใหม่ในเวลากลางคืน และจับมังแรนร่าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ชาวพม่าได้และเทพสิงห์ก็ได้จัดการฆ่ามังแรนราและต่อมาก็ได้ขึ้นปกครองเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2270

หลังจากปกครองเชียงใหม่ได้ประมาณ 1 เดือน พวกพม่าได้ร่วมกับเจ้าองค์คำ (หรือ เจ้าองค์นก) ขับไล่เทพสิงห์ เทพสิงห์จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจาก“เจ้าธรรมปัญโญ” เจ้าผู้ครองนครน่าน เจ้าเมืองน่านยกกำลังมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ชะตาตกการศึกครั้งนี้จึงแพ้อย่างราบคาบ เจ้าเมืองน่านเจ้าธรรมปัญโญเสียชีวิตในสนามรบ เทพสิงห์ก็ได้หายสาบสูญไป

เทพสิงห์ครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2270 รวมระยะเวลาได้เพียง 1 เดือน “องค์คำ” ร่วมกับพม่าขับไล่เทพสิงห์ออกไปได้ แล้วตั้งตนขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ หลังจากเจ้าองค์คำได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ไม่นานก็เกิดมีแม่ทัพพม่านามว่า “สะแคงพญา” ยกกองทัพมาจากกรุงอังวะเข้ามาประชิดเมืองเชียงใหม่ ขณะนั้นทัพพม่าตั้งอยู่ที่หนองหมอน เจ้าองค์คำจึงแต่งกองทัพยกไปรบกับพม่า ทัพพม่าก็แตกหนีไปอยู่เมืองพะเยา

องค์คำครองเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2270 – พ.ศ. 2302 รวมระยะเวลาได้ 32 ปี “องค์จันทร์” ได้ครองเมืองเชียงใหม่ได้ 2 ปี ก่อนที่จะถูก “เจ้าปัด” ยึดเมืองเชียงใหม่จากองค์จันทร์แต่กลับไม่ยอมครองเมือง อาจเป็นเพราะไม่มีอำนาจบารมีเพียงพอ

ดังนั้นจึงไปขอให้พระภิกษุวัดดวงดี ลาสิกขาบทออกมาเป็นเจ้าเมืองแทนเจ้าปัด เรียกว่า “เจ้าขี้หุด” ในปี พ.ศ. 2304 แสดงให้เห็นว่าภิกษุองค์ดังกล่าวคงเป็นผู้ที่ราษฎรเลื่อมใสศรัทธาอยู่มาก แต่หลังจากครองเมืองได้ไม่นาน ในปี พ.ศ. 2306 กองทัพพม่ายกมา 9 ทัพโดยมี “โป่อภัยคามินี” เป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ลำพูน พม่ากวาดต้อนเครือญาติวงศ์เจ้าองค์นก และชาวเมืองเชียงใหม่ส่งไปเมืองอังวะเป็นอันมาก และโป่อภัยคามินีก็ยกเข้าตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ไว้

โป่อภัยคามินีครองเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2306 – พ.ศ. 2311 รวมระยะเวลาได้ 5 ปี จึงถึงแก่กรรม พม่าจึงได้ส่ง “โป่มะยุง่วน” ชาวพม่าที่ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้ามังระแห่งกรุงอังวะให้ไปครองเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สองไม่นานนัก

พระเจ้าตากสิน ผู้สถาปนากรุงธนบุรี

เมื่อ“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ทรงยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี พวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าที่เมืองเชียงใหม่ โปมะยุง่วนเห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมื่อปี พ.ศ. 2313 ฝ่ายพระเจ้าตากรักษาเมืองไว้ได้ และตีกระหนาบกองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงทราบข่าวศึกก็ยกทัพขึ้นไปช่วย แต่เมื่อเสด็จไปถึงกลางทางทรงทราบว่า พวกเจ้าเมืองภาคเหนือช่วยกันตีพม่าแตกกลับไปแล้วจึงทรงตัดสินพระทัยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เสีย เมื่อ พ.ศ. 2314 พวกเมืองเหนือในอาณาจักรล้านนาได้มาสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายธนบุรี

โปมะยุง่วนตั้งรับอยู่ในเมืองเชียงใหม่ กองทัพของพระเจ้าตากมีกำลัง และเสบียงไม่เพียงพอต้องถอยทัพกลับพระนครหลังจากล้อมเชียงใหม่อยู่เก้าวัน โปมะยุง่วนถือโอกาสส่งกองทัพเข้าตามตีแต่ถูกทัพไทยตีกอบหนีไป

สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2317 กองทัพไทยตีค่ายพม่าด้านใต้ ด้านตะวันตกและด้านตะวันออกได้ โปมะยุง่วนและโปสุพลาต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่ออกไปทางประตูช้างเผือกทางด้านเหนือ กรุงธนบุรีจึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่และเมืองน่าน เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 ในที่สุด ถือเป็นการสิ้นสุดการครองอำนาจในล้านนาของพม่า

กล่าวโดยสรุปแล้ว อาณาจักรล้านนานั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพม่าเป็นเวลาถึง 217 ปี ซึ่งเรื่องราวหลังจากสิ้นอำนาจของพม่า และเข้าสู่การรวมอาณาเขตของสยามนั้นจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามเรื่องในตอนต่อไปเป็นตอนสุดท้าย

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : หนังสือ ประวัติศาสตร์ล้านนา, หนังสือ พม่ารบไทย, เว็บไซต์ www.thailandsworld.com
ภาพจาก : www.sri.cmu.ac.th, th.wikipedia.org, siriparpablog.wordpress.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

ร่วมแสดงความคิดเห็น