ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “บ้านน้ำคะสานก๋วย”

ขณะที่เทศกาลปีใหม่ม้งในหลายพื้นที่กำลังรื่นเริงบันเทิงใจ เย้ายวนให้นักเดินทางผู้รักในธรรมชาติและวิถีชีวิตมุ่งหน้าเข้ามาเยือนอยู่นั้น ผมมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสวิถีแห่งวัฒนธรรมของชาวม้งบ้านน้ำคะสานก๋วย อำเภอปง จังหวัดพะเยา เนื่องในเทศกาลวันปีใหม่ม้งที่จัดได้อย่างเอิกเกริกไม่แพ้ชุมชนชาวม้งในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ

บ้านน้ำคะสานก๋วย เป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งดำ จากการบอกเล่าของพ่อหลวงสมชาย (ลากั้ว) วารีพิทักษ์ ทำให้เราทราบว่าชาวม้งดำที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้อพยพมาจากบ้านปางค่าเหนือ ตำบลผาช้างน้อยในเขตอำเภอปงเมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว ซึ่งการอพยพเข้ามาครั้งแรกนั้นเป็นการตั้งถิ่นฐานในลักษณะของการสร้าง “ปาง” เป็นที่พักชั่วคราว กระทั่งในปี 2511 – 2525 มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อันเป็นเหตุให้มีนักศึกษาเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลายร้อยคนเดินทางเข้าป่ามาอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของชุมชนม้งตั้งแต่ดอยผาตั้ง – ภูลังกา – ดอยผาจิ ภายหลังเหตุการณ์สงบลงนักศึกษาพากันออกจากป่าสู่เมือง รัฐบาลได้ผลักดันให้ชาวม้งที่เป็นแนวร่วมของ พคท.ให้ลงสู่พื้นราบและได้จัดตั้งชุมชนขึ้นเป็น 2 หย่อมบ้าน คือบ้านน้ำคะและบ้านสานก๋วย ปัจจุบันทั้ง 2 หย่อมบ้านมีจำนวน 51 ครอบครัว 322 คน

ชุมชนบ้านน้ำคะสานก๋วยมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพบุรุษและให้ความสำคัญกับวงศ์ตระกูลมาช้านาน ดังนั้นเมื่อถึงช่วงเวลาวันสำคัญในวันขึ้นปีใหม่ของชาวม้งพวกเขาจึงมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษขึ้น พิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษของชาวม้งมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 – 3 มกราคมของทุกปีอันเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ โดยแต่ละบ้านจะมีการฆ่าไก่ 2 ตัวคือไก่ดำและไก่ขาวเพื่อนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษประจำตระกูล (เซี๊ยะ) ซึ่งชาวม้งเชื่อว่าไก่ทั้งสองตัวนั้นจะทำให้ผีบรรพบุรุษนำขวัญของพวกเขาให้กลับมาอยู่ในตัวไม่ให้หนีหายไปที่อื่น นอกจากนั้นบนหิ้งผีบรรพบุรุษประจำตระกูลยังมีกระดาษเงินกระดาษทองห้อยประดับบนหิ้ง ซึ่งชาวม้งก็เชื่ออีกว่าจะทำให้พวกเขามีเงินมีทองใช้ในปีใหม่ที่กำลังจะมีถึง

ด้วยความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวม้งที่นี่ จึงทำให้หมู่บ้านน้ำคะสานก๋วยกำลังพัฒนาฟื้นฟูสู่ความเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวในฐานะที่มีพิธีกรรมประเพณีอันเก่าแก่และสถานที่ตั้งของหมู่บ้านอันมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์เดือนตุลาคม จึงทำให้มีนักเดินทางรุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้ามาเยือนอย่างไม่ขาดสาย

รูปแบบการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาของชาวม้งที่จัดขึ้น อาทิ ประเพณีปีใหม่ม้ง ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีเข้าพรรษา งานด้านหัตถกรรมและเครื่องเงินแล้ว ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่สูงจากระดับน้ำทะเล 800 – 1,600 เมตรมีอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี บ้านน้ำคะสานก๋วยยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญอีกมากมาย เช่น การเดินป่าเที่ยวน้ำตก ชมนกเที่ยวถ้ำและศึกษาป่าสมุนไพรซึ่งถือได้ว่ามีความสมบูรณ์และสวยงาม

ตลอดกว่า 2 วันในชุมชนม้งบ้านน้ำคะสานก๋วย ทำให้ผมพบน้ำใจไมตรีจากมิตรผู้ห่างไกลที่อยู่กันคนละพื้นที่ต่างวัฒนธรรม แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำให้รอยต่อระหว่างความรู้สึกของแต่ละคนห่างออกจากกันไปได้ แน่นอนว่าการเดินทางเข้ามาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 วัน การค้างแรมในหมู่บ้านจะช่วยทำให้คนในท้องถิ่นมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ผลพลอยได้จากการร่วมใจในการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวม้งก็คือ การสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้กับภายนอกมีความรู้ความเข้าใจต่อวิถีชีวิตของชาวม้งมากยิ่งขึ้น

การเดินทางสู่บ้านน้ำคะสานก๋วย
จากตัวเมืองพะเยาถึงบ้านน้ำคะสานก๋วย ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา มีระยะทาง 139 กิโลเมตร โดยผ่านอ.ดอกคำใต้, อ.จุน, อ.เชียงคำ จาก อ.เชียงคำเข้าสู้หมู่บ้านน้ำคะสานก๋วย ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1148 (เชียงคำ – ท่าวังผา จ.น่าน) ตลอดเส้นทางหลวงหมายเลข 1148 จะพบความสวยงามของทิวทัศน์สองข้างถนนและพบหมู่บ้านไทยพื้นราบ ชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยนและเผ่าม้ง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรถึงทางแยกซ้ายมือมีทางลูกรังเข้าบ้านน้ำคะสานก๋วยอีกประมาณ 5 กิโลเมตร

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น