เที่ยวแหล่งมรดกโลก “บ้านเชียง”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ที่กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจขุดค้นหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง ซึ่งเชื่อกันกันว่าครั้งหนึ่งบริเวณแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุประมาณ 5,600 – 1,800 ปีมาแล้ว

ข่าวการขุดพบแหล่งประวัติศาสตร์บ้านเชียงได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และเมื่อปีพ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรหลุดขุดค้นและ
นิทรรศการต่างๆ ตลอดจนทรงเยี่ยมทักทายประชาชนที่มารับเสด็จด้วยความใกล้ชิด

หลังจากที่มีการพบแหล่งประวัติศาสตร์บ้านเชียงครั้งแรกแล้วนั้น ก็ได้มีการกระจายการสำรวจแหล่งโบราณคดีทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรและพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ปัจจุบันบ้าน

เชียงกลายเป็นแหล่งโบราณดีเพียงแห่งเดียวที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคือประมาณ 5,000 – 6,000 ปีมาแล้ว โดยหลักฐานที่พบอยุ่ใต้ดินลึกที่สุด เป็นแกลบข้าวที่ใช้ผสมดินและทรายปั้นภาชนะดินเผา ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า คนรุ่นแรกๆคงจะอยู่อาศัยบริเวณรอบบ้านเชียงเมื่อ 6,000 -7,000 ปีที่แล้ว และก่อนนั้นคงเป็นป่าเต็งหรือป่าโคก

จากรายงานการขุดค้นของ ดร.ไมเคิล ปิทรูเซฟสกี้ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาไวอิ สหรัฐอเมริกาซึ่งใช้เวลาในการขุดค้นถึง 6 ปี ทำการศึกษาโครงกระดูกคนที่ขุดได้จากบ้านเชียงเกือบ 130 โครง ระบุว่า “กระดูกที่ขุดค้นได้ที่บ้านเชียง ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่เพศชายมากกว่าเพศหญิงและทารก คนโบราณที่นั่นรูปร่างค่อนข้างสูง ช่วงขายาว แข็งแรง ล่ำสัน ผู้ใหญ่เพศชายจะสูงระหว่าง 162.5 – 172.5 ซม. เพศหญิงนั้นดูจะเตี้ยและโครงร่างเล็กกว่ามาก ส่วนสูงอยู่ระหว่าง 147.5 – 155 ซม.”

นอกจากนั้นแล้วที่บ้านเชียง ยังขุดพบหลักฐานเกี่ยวกับภาชนะดินเผา สำริด เครื่องจักสานรวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการล่าสัตว์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการขุดพบสำริดซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด อายุของสำริดที่บ้านเชียงนั้นอยู่ระหว่าง 2,400 – 2,800 ปี อาจกล่าวได้ว่าในอดีตหลายพันปีมาแล้วมีการผลิตโลหะสำริดขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเชียง

ปัจจุบันหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติบ้านเชียง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทแหล่งอนุสรณ์สถานที่กรมศิลปากรจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 จัดแสดงหลักฐานจากการสำรวจขุดค้นที่บ้านเชียงและแหล่งใกล้เคียง ประกอบด้วย กลุ่มภาชนะดินเผา ซึ่งเป็นลวดลายเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านเชียง จนมีการเรียกชื่อลายที่ปรากฏบนภาชนะต่างๆว่า “ลายบ้านเชียง” นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือโลหะสำริดอายุถึง 5,600 ปีและเครื่องมือเหล็กอายุ 3,600 ปี

ที่พิพิธภัณฑ์บ้านเชียงมีการจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีเป็น 3 ส่วน ได้แก่ อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งมูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เป็นผู้ให้ทุนในการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2530 โดยมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียร่วมกับสถาบันสมิธโซเนียน ประเทศ
สหรัฐอเมริกาเป็นผู้รับผิดชอบจัดสร้างขึ้น

ภายในมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงระหว่าง พ.ศ.2524 – 2529 ซึ่งแบ่งหัวข้อความสำคัญของการจัดนิทรรศการออกเป็น 2 ส่วนคือ บ้านเชียงในอดีต แสดงโบราณวัตถุและหลักฐานที่ได้มาจากการขุดค้น กับบ้านเชียงวันนี้เป็น
การแสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องมือ เครื่องใช้ ศิลปพื้นบ้านของคนบ้านเชียงในปัจจุบันคือ ชาวไทพวน

บ้านไทพวน ตั้งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงประมาณ 700 เมตร เดิมเป็นบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ มอบให้กรมศิลปากรเนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งโบราณสถานและได้มีการพบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน เป็นหลุมค้นขุดทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอยู่ห่างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงไปทางทิศตะวันออกประมาณ 500 เมตร เปิดแสดงให้เห็นถึงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง สภาพโบราณวัตถุที่ค้นพบอยู่ในลักษณะเดิมทั้งสิ้น นับเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย

เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปที่บ้านเชียงจะพบกับสภาพของหมู่บ้านที่เป็นชนบทมีการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบฉบับของชาวไทพวน ถนนเข้าหมู่บ้านมีร้านจำหน่ายของที่ระลึกประเภท เครื่องปั้นดินเผา ผ้าทอ เครื่องจักสานซึ่งเป็นงานฝีมือของชาวไทพวน นอกจากนั้นในแต่ละบ้านก็จะมีการปั้นภาชนะดินเผาสไตล์บ้านเชียง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเลือกซื้อของฝากได้ ส่วนใครที่ต้องการจะไปชมหลุมขุดค้นก็อยู่ไม่ไกลนักภายในวัดโพธิ์ศรีใน ส่วนใครที่ต้องการจะเข้าชมในพิพิธภัณฑ์เพื่อย้อนอดีตของบ้านเชียงก็สามารถเข้าชมได้ โดยพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงเปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. หรือติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 0-4220-8340.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น