กระดาษใยสับปะรด ผลิตภัณฑ์จากถิ่น “นางแล”

ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งกำเนิดสับปะรดพันธุ์ “นางแล” สับปะรดรสชาติดี ซึ่งเป็นที่นิยมมากพันธุ์หนึ่ง ชาวตำบลนางแลจึงปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลัก โดยเฉลี่ยครอบครัวหนึ่งจะปลูกสับปะรดประมาณ 3-5 ไร่ โดยพื้นที่ 1 ไร่สามารถปลูกสับปะรดได้ราว 8,000 ต้น มีผลตอบแทนในรูปแบบของรายได้ค่อนข้างดีคือประมาณ 12,000 บาทต่อพื้นที่ 1 ไร่

อย่างไรก็ตามการปลูกสับปะรดในพื้นที่เดิมอย่างต่อเนื่องนานนับสิบปี ทำให้คุณภาพดินเสื่อมลง รสชาติสับปะรดที่เคยหวานฉ่ำเริ่มผิดเพี้ยนไป ส่งผลให้ผลผลิตสดที่ด้อยคุณภาพจำหน่ายได้ถูก หรือบางครั้งก็ขายไม่ได้ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านตำบลนางแลรวมทั้งหน่วยงานรัฐในพื้นที่พยายามหาทางออกโดยการแปรรูปผลผลิตในรูปแบบต่างๆ อาทิ แยม น้ำสับปะรด ไวน์ เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาให้เกษตรผู้ปลูกสับปะรดได้พอสมควร

สำหรับการนำเอาใบสับปะรดมาทำเป็น “กระดาษ” เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการสร้างผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผศ.มาลี หมวกกุล อาจารย์ประจำภาควิชาคหกรรมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงราย กล่าวถึงความเป็นมาว่า เดิมหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรจะฟันใบสับปะรดทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ แต่ประมาณเมื่อปี 43 ทราบข่าวว่า ที่จังหวัดลำปางมีการนำใบสับปะรดมาทำเป็นกระดาษ จึงคิดว่าหากสามารถทำได้จะเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน เพราะได้มีการชวนกลุ่มแม่บ้านตำบลนางแลไปศึกษาดูงานแต่ก็ไม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตมากนัก จึงกลับมาทดลองหาวิธีการผลิตกระดาษจากใบสับปะรดในห้องปฏิบัติการของภาควิชา เพื่อหาความเป็นไปได้ในด้านเทคนิค

“ในการทดลองนำเอาใบสับปะรดมาทำเป็นกระดาษ โดยใช้ประบวนการเดียวกับการทำกระดาษสา ซึ่งก็ได้กระดาษคล้ายกับกระดาษสา แต่ในการทดลองแรกๆคุณภาพของกระดาษที่ได้ออกมาจะไม่ค่อยดีนักคือ เนื้อหยาบและบิดงอ ได้มีการทดลองพัฒนาคุณภาพกระดาษหลายๆวิธีการ คุณภาพกระดาษดีขึ้นและได้เนื้อกระดาษและโทนสีที่แตกต่างกันไปตามสภาพของใบสับปะรด เช่น ใบแห้ง เนื้อกระดาษจะค่อนข้างหยาบหนา สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ แต่ลวดลายเยื้อกระดาษค่อนข้างชัด ในขณะที่ใบสดอ่อนจะได้เนื้อกระดาษละเอียดบาง สี เหลืองอ่อน ลวดลายไม่ชัดเจนนัก” อาจารย์มาลีให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นางวิรัตน์ จันเลน ประธานกลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การศึกษากระบวนการผลิตกระดาษจากใบสับปะรดในระบบธุรกิจชุมชน” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค (สกว.ภาค) กล่าวว่า หลังจากที่ได้ร่วมงานวิจัยผลิตกระดาษจากใบสับปะรดในระดับห้องปฏิบัติการได้สำเร็จแล้ว ทางกลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ต้องการที่จะขยายขนาดการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการมาเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรมครัวเรือนหรือระดับธุรกิจชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับแม่บ้านอีกทางหนึ่ง กลุ่มแม่บ้านที่สนใจจำนวน 20 คนจึงได้รวมกลุ่มกันพร้อมทั้งระดมหุ้นๆละ 100 บาทเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม

กลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ทำการทดลองผลิตกระดาษจากใยสับปะรด โดยการประยุกต์ขั้นตอนวิธีการแบบง่าย ใช้แรงงานสมาชิก อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆใช้จากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่เนื่องจากกลุ่มแม่บ้านยังไม่มีทักษะในการผลิตกระดาษ อีกทั้งยังไม่มั่นใจในกระบวนการผลิตที่มีการขยายขนาดการผลิต รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด ในเบื้องต้นจึงต้องการการหนุนเสริมด้านเทคนิควิธีการผลิต จากนักวิชาการอย่างใกล้ชิด จากการทอลองที่ผ่านมาพบว่าคุณภาพกระดาษที่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ทั้งในส่วนของ สี ความเรียบ ความเหนียวของกระดาษ

“ในกระบวนการผลิตของชาวบ้านใช้วิธีตากให้แห้งตามธรรมชาติ ไม่ได้มีการควบคุมอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอ ลวดลายหรือสีที่ได้ อาจจะไม่มีสีสันสดใสแต่คิดว่า โทนสีตามธรรมชาติเป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ในส่วนของความบาง ขณะนี้กระดาษสับปะรดอาจจะยังไม่สามารถทำได้บางเท่ากับกระดาษสา คิดว่าอยู่ที่เทคโนโลยีการผลิต ซึ่งกำลังจะให้ทางกลุ่มแม่บ้านปรับวิธีการบงอย่างเพื่อดูว่า จะสามารถปรับปรุงเนื้อกระดาษให้บางลงกว่าเดิมได้หรือไม่” ผศ.มาลี อธิบายเกี่ยวกับคุณภาพของกระดาษสับปะรดเพิ่มเติม

ด้านการตลาดนั้น นางวิรัตน์ กล่าวว่า เนื่องจากคุณภาพกระดาษที่หนา ทำให้ข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์อยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกระดาษสา ตลาดสำหรับกระดาษสับปะรดเป็นแผ่นๆ จึงไม่ค่อยสดใสนัก ที่ผ่านมาทางกลุ่มแม่บ้านได้นำเอากระดาษที่ผลิตได้ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ ของที่ระลึก รูปแบบต่างๆ เช่น หมวก ที่เสียบปากกา กรอบรูปแขวน ถังขยะ กล่องทิชชู ปกสมุดโน้ต เป็นต้น และได้นำไปทดลองจำหน่ายตามงานออกร้านของจังหวัด มีผู้สนใจอย่างมาก ระยะหลังมีการติดต่อเข้ามาเพื่อสั่งสินค้าไปจำหน่ายในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ แต่กลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ยังไม่สามารถทำให้ได้ เพราะกำลังการผลิตมีน้อย ที่สำคัญยังขาดคนที่มีทักษะในการทำผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ จึงคิดว่าลู่ทางด้านตลาดมีแนวโน้มไปได้ดี

ผศ.มาลี ในฐานะพี่เลี้ยงนักวิจัย กล่าวเสริมข้อมูลในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่า ทางภาควิชาคหกรรมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเชียงรายได้ทำการนำกระดาษสับปะรดไปทดลองประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก ดังนั้นช่วงต่อไปจึงจะมีการอบรมเสริมทักษะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกกลุ่มแม่บ้านหรือเยาวชนในหมู่บ้านที่สนใจ คิดว่าจะทำให้กลุ่มแม่บ้านสามารถผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น

นอกจากการทดลองเพื่อพัฒนาเทคนิคการผลิตและคุณภาพกระดาษแล้ว ในการวิจัยครั้งนี้ยังได้ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยมีการทดลองหากระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยการหาทางทำให้น้ำต้มใบสับปะรดที่มีคุณสมบัติเป็นด่างเกิดความเป็นกลาง และเติมเชื้อ อี.เอ็ม.ลงไปเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระบวนการผลิตกระดาษใยสับปะรดสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

แม้วันนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็พอมองเห็นว่าอนาคตด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์จากกระดาษใบสับปะรดมีแนวโน้มที่ดี และที่สำคัญจะเห็นได้ว่าการส่งเสริมกระบวนการพัฒนาคุณภาพกระดาษจากใบสับปะรดของกลุ่มแม่บ้านป่าซางวิวัฒน์ ตำบลนางแล จังหวัดเชียงราย ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาด้านรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยตั้งอยู่บนฐานปัญหาและฐานทรัพยากรของชุมชน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบด้านการผลิตและการตลาดอีกด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น