“จ๋น เครียด กิ๋นเหล้า!” ความเป็นมาของน้ำเมาในล้านนา

เหล้าหรือสุราซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวล้านนานั้น มีความเป็นมาช้านานหลายชั่วอายุคน ทั้งนี้เพราะเหล้าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เช่น “การเลี้ยงผี” ที่เป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวล้านนา

ซึ่งวันนี้ “เชียงใหม่นิวส์” จะมานำเสนอเรื่องราวของเหล้า เครื่องดื่มยอดนิยมของผู้คนทั่วโลก และมีความนิยมในภาคเหนือของเราด้วย

เหล้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักข้าวผสมกับหัวเชื้อแป้งเหล้า ซึ่งมีมาช้านานในสังคมล้านนา เช่น ในบันทึก “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ตอนอภิเษกขุนเจืองขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองแกงก็มีการเลี้ยงฉลองกันด้วยเหล้าและอาหารประเภทเนื้อสัตว์

ซึ่งเหล้าของล้านนาที่ดื่มกินอย่างแพร่หลายนั้นเป็นเหล้าปรุงเองทั้งสิ้น ได้แก่ เหล้าน้ำขาว, เหล้ากลั่น, เหล้าตอง เป็นต้น

จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่แสดงถึงวัฒนธรรมการสังสรรค์ หรือก๊งเหล้าของชาวล้านนา

ต้นกำเนิดสุราจากเอกสารเรื่องมูลละเหล้า

ตำนานการเกิดเหล้าของล้านช้างและล้านนา เกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของพุทธศาสนา ที่พยายามดึงให้เหล้าเป็นศีลข้อที่ห้า โดยนิทานซึ่งเขียนขึ้นใหม่นี้ บันทึกไว้ในเอกสารใบลานเรื่อง “มูลละเหล้า” ดังที่พรรณเพ็ญ เครือไทย เป็นผู้สรุปใจความไว้ในสารานุกรมไทย ภาคเหนือ โดยอาศัยใบลานของวัดบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ซึ่งนิทานมูลละเหล้าบันทึกไว้ด้วยตัวอักษรพื้นเมือง จารลงบนใบลาน ความยาว 1 ผูก จำนวน 21 หน้าลาน ไม่ปรากฏปี พ.ศ.ที่คัดลอก ต้นฉบับได้มาจากวัดบ้านโปง ซึ่งพรรณเพ็ญ เครือไทย เป็นผู้สรุปเนื้อหาไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ดังนี้

มูลละเหล้า ฉบับวัดบ้านโป่ง

ครั้งหนึ่งที่ “พระพุทธเจ้า”ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดนางวิสาขา โดยกล่าวถึงความเป็นมาของเหล้าว่า

จิตรกรรมฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ที่แสดงให้เห็นถึงการค้าขายเหล้าในอดีต

ในเมืองพาราณสีมีพรานป่าผู้หนึ่งชื่อสลา ได้เข้าไปหาผลไม้ในป่าหิมพานต์ และพบต้นไม้ซึ่งภายในกลวงมีน้ำขังอยู่ในโพรง เมื่อผลไม้ต่าง ๆ หล่นตกลงไปแช่อยู่ในนั้น นกและสัตว์มากินก็เมาจนไม่ได้สติ นายพรานจึงตักน้ำนั้นมากิน พร้อมกับนำสัตว์ที่สลบอยู่มาย่างกินด้วย

ต่อมาพรานป่าได้ไปพบฤาษีชื่อ “วรุณณะ” ซึ่งสร้างอาศรมอยู่ในป่าแห่งนั้น จึงนำน้ำเมาและเนื้อย่างไปถวาย ฤาษีกินแล้วก็เมามายจนเลิกบำเพ็ญพรตในที่สุด และเรียกน้ำเมานี้ว่า“สุราเมรัย” หลังจากนั้นพรานป่ากับฤาษีได้นำน้ำเมานี้ ไปเผยแพร่ในเมืองพาราณสี “พระเจ้าพรหมทัต” ได้ลิ้มรสก็ติดใจ รวมทั้งชาวเมืองทั้งหลายซึ่งเรียกน้ำชนิดนี้ว่า “เหล้า” หลังจากชาวเมืองเมื่อกินแล้วก็ขาดสติความยับคิด ทำให้เกิดเรื่องร้ายต่าง ๆ ตามมา นายพรานสลากับฤาษีวรุณณะกลัวความผิด จึงหนีไปยังเมืองสาเกต

พญาเจ้าเมืองทราบข่าวจึงขอให้คนทั้งสองต้มเหล้าขาย ชาวเมืองได้กินแล้วก็เมา สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ทั้งสองคนจึงพากันหนีไปยังเมืองสาวัตถี “พระเจ้าสัพพมิตต์” ผู้เป็นกษัตริย์จึงโปรดให้เข้าเฝ้า และสั่งให้หมักเหล้า 500 ไห แต่ทั้งสองเกรงว่าหนูจะมากินเหล้า จึงจับแมวมัดติดไหเหล้าตัวละไห บังเอิญน้ำเหล้ารั่ว เมื่อแมวได้กินก็เมาสลบอยู่ คนรับใช้มาพบเข้าคิดว่าแมวตาย จึงกลับไปกราบทูลให้พญาเจ้าเมืองทราบว่า ในไหเหล้านั้นมียาพิษ พระเจ้าสัพพมิตต์จึงสั่งประหารชีวิตพรานป่าสลาและฤาษีวรุณณะ

เมื่อแมวฟื้นจากอาการเมาแล้ว คนรับใช้มาพบเข้าจึงไปกราบทูลให้พญาเจ้าเมืองทราบ พระเจ้าสัพพมิตต์สงสัยในรสชาติของเหล้า จึงลองกินดูพร้อมกับเสนาอามาตย์ ในขณะนั้นพระโพธิสัตว์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระอินทร์เล็งเห็นมนุษย์กระทำการอันเป็นบาป จึงแปลงเป็นพราหมณ์มาปรากฏกายต่อหน้า พระเจ้าสัพพมิตต์ได้เห็นรัศมีแผ่ออกมาจากร่างกาย ก็ถามพราหมณ์ว่าเป็นพระอินทร์จริงหรือ พระอินทร์จึงกล่าวถึงโทษของเหล้าว่า ถ้ากินในเมืองมนุษย์ก็ทำให้คนขาดสติ สามารถกระทำความชั่วต่าง ๆ ได้ง่าย หากกินในเมืองสวรรค์ก็ทำให้เกิดความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน

หลังจากได้รับคำชี้แจงสั่งสอนจากพระอินทร์แล้ว พระเจ้าสัพพมิตต์จึงสั่งให้ทำลายเหล้าทั้ง 500 ไหนั้น และเลิกกินเหล้า หันมาถือศีลบำเพ็ญทาน เมื่อตายไปแล้วก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ ส่วนคนทั้งหลายยังเกิดความเสียดาย จึงเก็บเชื้อเหล้าไว้ ทำให้มีเหล้าแพร่หลายสืบมาตราบจนปัจจุบันนั่นเอง

เรียบเรียงโดย : “เชียงใหม่นิวส์”
ข้อมูลจาก : www.chiangraifocus.com, www.sri.cmu.ac.th, www.silpa-mag.com
ภาพจาก : chiangtungbiz.com, www.silpa-mag.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น