ข่วงหลวงเชียงใหม่ แผนรื้อคุกเป็นสวน 6 ปี วังเวง

ภาคประชาสังคมเชียงใหม่ ระบุว่า ตั้งแต่ ครม.มีมติเมื่อ 15 ม.ค.2556 ให้ สนง.พุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพดำเนินการรับฟังข้อเสนอประชาชนในแผนพัฒนาพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ซึ่งมีข้อสันนิษฐานเชิงประวัตศาสตร์ระบุเคยเป็นวังที่ประทับพญามังราย ผู้ครองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.1839

ต่อมาปี พ.ศ.2445 ถูกรื้อถอน ใช้เป็นศูนย์ราชการ บนพื้นที่กว่า 14 ไร่ 56 ตรว. ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นเรือนจำชาย และทัณฑสถานหญิงในเวลาต่อมา จนกระทั่งเมื่อเรือนจำทั้งชายและหญิงถูกย้ายออกไปยัง อ.แม่แตง และพื้นที่ตรงข้ามศาลากลางในปัจจุบัน ส่งผลให้กลายเป็นที่รกร้างนานหลายปี

จนกระทั่งชาวเชียงใหม่ และหลาย ๆ ภาคส่วนพยายามนำเสนอ ผลักดัน ให้พัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ราว ๆ ปี 2556 มีการจัดสรรงบกว่า 150 ล้านบาท เตรียมจัดตั้งพุทธอุทยาน แต่ถูกคัดค้าน จนนำไปสู่ กิจกรรมโครงการลานหอคำ พระเจ้าเม็งรายมหาราช และพระพุทธรูปพระเจ้าค่าคิง อนุสรณ์สถานวาระเชียงใหม่ครบ 720 ปี การก่อสร้างในพื้นที่ตรงข้ามทัณฑสถานหญิงใกล้แล้วเสร็จ ส่วนใหญ่เป็นงบบริจาคเพื่อการพัฒนาโครงการ

ในขณะที่ โครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ที่เริ่มทำพิธีสวดถอนสิ่งปลูกสร้างเมื่อ 9 ส.ค. 56 ครั้งที่นายธานินทร์ สุภาแสน เป็นผวจ.เชียงใหม่ กระบวนการขั้นตอนที่ มีพิธีการทางสงฆ์ มีการประชาพิจารณ์ ประกวดออกแบบโครงการจนได้ผลงานผู้ชนะเลิศ และมีประกาศจำหน่ายสิ่งปลูกสร้าง และอาคาร ภายในทัณฑสถานหญิง กว่า 37 รายการ กำหนดราคากลาง 7 แสนกว่าบาท เมื่อ 15 มิ.ย.2559 ครั้งที่นายปวิณ ชำนิประศาสน์ เป็นผวจ.เชียงใหม่ก่อนจะย้ายไปเป็นรองปลัด มท. และนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ มาทำหน้าที่ ผวจ.เชียงใหม่ คนปัจจุบัน

จนกระทั่ง มีการประกวดราคาจ้างเหมาตามระบบ อีออคชั่น ได้ บ.ทำเลไทย เป็นผู้รับจ้างในวงเงินกว่า 95 ล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งในเว็บไซต์ บ.รับเหมารายนี้ ระบุว่าหากดำเนินการตามแผนในปี 60 คาดว่าภายในปี 61 แล้วเสร็จ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากมีการจัดการ ปัญหา อุปสรรค ด้านพิสูจน์ ขุดค้นหาร่องรอย เก็บหลักฐานรอยอดีต ตามหลักโบราณคดี และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพื้นที่ อนุมัติให้ดำเนินการรื้อถอน รวมถึงแผนงานด้านโบราณคดีที่จะดำเนินการกำจัด ตัดวัชพืช บริเวณศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก พัฒนาสถานที่ซึ่งเสมือนอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกแห่งของเวียงเชียงใหม่

ท้ายที่สุดสภาพที่ปรากฏ รายรอบทัณฑสถานหญิง ยังคงรกร้าง มีสภาพเป็นป่ารกชัฏกลางเมืองหากยังไม่เริ่มดำเนินการ อาจจะมีปัญหาด้านงบประมาณ ซึ่งโครงการนี้เดิมเคยได้รับ 150 ล้านบาท งบตกไป 2 ครั้ง จนได้งบ 95 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการยืนยันว่า มีการทำสัญญาจ้างไปแล้ว ในการพัฒนาพื้นที่เป็นข่วงหลวงเวียงแก้ว สวนสาธารณะกลางเมืองสำหรับใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเร็ว ๆ นี้เครือข่ายภาคประชาสังคมเชียงใหม่เตรียมเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันให้โครงการสัมฤทธิ์ผล ไม่คาราคาซังนานแบบนี้ที่ล่วงเลยเข้าปีที่ 7 ปี ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย

ร่วมแสดงความคิดเห็น