มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับรางวัลจากงาน “The 2nd International Strawberry Brand Symposium” ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน

มูลนิธิโครงการหลวง ได้รับรางวัล “Belle Berry Awards Angel” จากการประชุมสัมมนานานาชาติ “The 2nd International Strawberry Brand Symposium” ขึ้น ณ อำเภอ LISHUI เมือง NANJING ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากสตรอว์เบอร์รีที่ปลูกกันอยู่ในประเทศไทยนั้น นับเป็นพืชสำคัญที่สร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวง มาครบ 50 ปี ในปี 2562 นี้ สายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตสตรอว์เบอร์รี คุณภาพได้กระจายไปทั่วพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย สร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี

เมื่อวันที่ 1-3 มีนาคม 2562 China Good Agri Products Development and Service Association ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัดการประชุมสัมมนานานาชาติ “The 2nd International Strawberry Brand Symposium” ขึ้น ณ อำเภอ LISHUI เมือง NANJING ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสตรอว์เบอร์รี เสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมการบูรณาการด้านอุตสาหกรรมและการสร้างคุณค่าของตราสินค้า โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิชาการ นักธุรกิจ และเกษตรกรจากประเทศต่าง ๆ รวม 30 ประเทศกว่า 500 คน

ในการนี้ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ คณะทำงานไม้ผล มูลนิธิโครงการหลวง และ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการศูนย์นานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุม ตามคำเชิญของ China Good Agri-Products Development and Service Association และบรรยายในหัวข้อ “Technological Innovation for Strawberry Industry in Thailand”

ซึ่งคณะกรรมการผู้จัดงานได้พิจารณาเนื้อหาที่นำเสนอ และเห็นว่าการปลูกสตรอเบอร์รี่ของประเทศไทยเป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการที่ทรงริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ ปี พ.ศ.2512 มีการนำสายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตสตรอว์เบอร์รีคุณภาพส่งเสริมและกระจายไปทั่วพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนต่าง ๆ
ทั้งในพื้นที่โครงการหลวงและพื้นที่อื่นหลายร้อยล้านบาทต่อปี นับได้ว่าสตรอว์เบอร์รีเป็นพืชสำคัญที่โครงการหลวงเป็นผู้นำมาวิจัยและพัฒนาจนได้สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่สามารถปลูกได้ทั่วไปในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย นับตั้งแต่ สายพันธุ์ เบอร์13 เบอร์ 20 และ เบอร์ 16 จนถึงพันธุ์พระราชทานต่าง ๆ ได้แก่พันธุ์พระราชทาน 50 ถือกำเนิดในปี 2539 ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พันธุ์พระราชทาน 60 ได้รับการรับรองพันธุ์และนำออกส่งเสริมในปีเพื่อแห่งเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 9 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2549

พันธุ์พระราชทาน 70 นำออกส่งเสริมในปี พ.ศ.2540 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 70 พรรษา เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ใบมีลักษณะกลมใหญ่ และสีเขียวเข้มไม่ทนต่อราแป้ง แต่ทนต่อโรคเหี่ยว ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ลักษณะทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดใสแต่ไม่สม่ำเสมอ เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นหอม มีความฉ่ำและรสหวาน

พันธุ์พระราชทาน 72 นำออกส่งเสริมในปี พ.ศ.2542 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา เนื้อผลแข็งกว่าพันธุ์พระราชทาน 70 แต่มีความหวานน้อยกว่า มีกลิ่นหอมเมื่อเริ่มสุก เนื้อภายในผลมีสีขาว ผิวผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงถึงแดงจัด เงาเป็นมันที่ผิวผล ทนต่อการขนส่งมากกว่าพันธุ์อื่น

พันธุ์พระราชทาน 80 นำออกส่งเสริมใน ปี พ.ศ.2550 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนสและราแป้งได้ดี ผลสุกมีกลิ่นหอม และมีรสชาติหวานกว่า เนื้อผลแน่น สีแดงสด รูปร่างของผลสวยงาม เป็นรูปทรงกรวยถึงทรงกลมปลายแหลม ผิวไม่ขรุขระ

พันธุ์ พระราชทน 88 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์ พระราชทาน 60 รูปร่างของผลคล้ายหัวใจมากกว่าสายพันธุ์อื่น ผิวสวย ไม่มีขนติดผิวผล ขนาดของผลค่อนข้างสม่ำเสมอ สีส้มแดงถึงแดงสด เนื้อละเอียดแน่น สีแดงสลับขาว หวานกว่าสายพันธุ์อื่น กลิ่นหอมโดดเด่นกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยมีมา และทนต่อการขนส่งได้ดี

ผู้จัดงานจึงได้มอบรางวัล “Belle Berry Awards Angel” ให้แก่มูลนิธิโครงการหลวง ในฐานะเป็นโครงการที่ผลิตสตรอว์เบอร์รีเพื่อสร้างรายได้ เพิ่มคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยรักษาสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูง เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีทั้งในและต่างประเทศได้อย่างดียิ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น