ผอ.กกต.เชียงใหม่ตรวจสอบแล้ว หลังมีกระแสโซเชียลกล่าวหาผู้สมัคร ส.ส.ซื้อเสียง

ผอ.กกต.เชียงใหม่ สั่งตรวจสอบแล้วกรณีมีการโพสต์โซเชียลกล่าวหาผู้สมัคร ส.ส.ซื้อเสียง ชี้เจอเยอะแต่ส่วนใหญ่เลื่อนลอย พร้อมเผยจนถึงล่าสุดยังไม่ได้รับการร้องเรียนแม้แต่เรื่องเดียว อย่างไรก็ตามมี 13 เรื่องที่กำลังดำเนินการ พบหลักฐานชัดจ่อลงดาบ 1 เรื่องซื้อเสียงเขตเลือกตั้งโซนเหนือ

จากกรณีที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่โพสต์ข้อความว่าพบผู้สมัคร ส.ส.รายหนึ่งในเขตเลือกตั้งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่มีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง โดยจ่ายเงินซื้อเสียงคนละ500บาทนั้น นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เบื้องต้นทราบกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว และได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยข้อมูล ณ วันที่ 11 มี.ค.62 กกต.เชียงใหม่ เรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งทั้งสิ้น 13 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการซื้อเสียง อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเรื่องทั้งหมดเป็นการสืบเสาะเองของ กกต.โดยที่จนถึงล่าสุดยังไม่มีผู้ที่เข้ามาร้องเรียนแต่อย่างใด

ทั้งนี้เรื่องที่ทาง กกต.เชียงใหม่ กำลังดำเนินการอยู่นั้น ได้แก่ เรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงจำนวน 8 เรื่อง,เรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจมูลจำนวน 4 เรื่อง และเรื่องที่กำลังสืบสวนจำนวน 1 เรื่อง โดยในเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น จะเป็นกรณีที่มีเบาะแสจากการลงพื้นที่หาข่าว รวมทั้งกรณีที่มีการโพสต์ในโซเชียลมีเดียด้วย แต่ข้อมูลยังไม่ชัดเจน ขณะที่เรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจมูลนั้น จะเป็นในกรณีที่มีข้อมูลพยานหลักฐานพอสมควรและต้องทำการรวบรวมเพิ่มเติม ซึ่งหากเพียงพอจะนำไปสู่การจัดทำสำนวนสืบสวนต่อไป ส่วนเรื่องที่กำลังสืบสวนของ กกต.เชียงใหม่จำนวน 1 เรื่องนั้น เป็นเรื่องการซื้อเสียงในเขตเลือกตั้งหนึ่งทางตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากการสืบสวนจนถึงล่าสุดพบว่ามีพยานหลักฐานการกระทำผิดชัดเจนและน่าจะมีการดำเนินการขั้นต่อไปในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีการโพสต์โซเชียลมีเดียแจ้งพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งของบรรดาผู้สมัคร ส.ส.หรือพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ที่ผ่านมาทาง กกต.เชียงใหม่ มีการเฝ้าติดตามเบาะแสผ่านโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีทั้งกรณีซื้อเสียง,การจัดเลี้ยง หรือการสัญญาว่าจะให้ เป็นต้น โดยเมื่อทราบจะดำเนินการตรวจสอบ แต่เมื่อตรวจสอบกับผู้โพสต์พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานหรือไม่ได้ประสบเหตุด้วยตัวเอง เช่น ฟังผู้อื่นเล่ามา เป็นต้น ซึ่งอาจจะไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ฝากเตือนประชาชนว่าให้ระมัดระวังในเรื่องของการโพสต์ลักษณะดังกล่าว เพราะอาจจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเสียเอง ทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายคอมพิวเตอร์ หากมีข้อมูลหลักฐานหรือเบาะแสควรแจ้งให้ทาง กกต.ดำเนินการจะดีกว่า

ร่วมแสดงความคิดเห็น