รองนายกฯ ประจิน เปิดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อการแพทย์และการศึกษาวิจัย

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2562 พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ ครั้งที่ 1/2562 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายแพทย์ สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 50 คน ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 1 ชั้น 9 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กระทรวงยุติธรรม

ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 332/2561 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ ในการเสนอแนะนโยบายและแผนเพื่อพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งในส่วนของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การปรับปรุงสายพันธุ์ การสกัดสารสำคัญที่ได้จากกัญชา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การนำไปใช้ประโยชน์และการควบคุม กำกับดูแลอย่างเหมาะสม

การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางหรือแผนการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์กัญชา เพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
1. เป้าหมายของการใช้ประโยชน์ เพื่อการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น
2. ผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ คือ ประชาชนซึ่งเป็นคนไทยต้องได้รับประโยชน์ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูก การใช้ประโยชน์เพื่อการบำบัด รักษาโรค และลดผลกระทบของอาการเจ็บป่วยในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก
3. แนวคิดในการดำเนินการ ประกอบด้วย (1) แนวทางการใช้ประโยชน์และแผนการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย ได้แก่ การประมาณการผู้ป่วยที่จะใช้กัญชาเพื่อการบำบัดรักษา การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสถานพยาบาล การกำหนดกลุ่มโรคที่จะใช้กัญชาเพื่อการบำบัดรักษา รวมทั้งแผนการผลิตและสกัดสารสำคัญเพื่อใช้ในการบำบัดรักษา และแผนการศึกษาวิจัย
(2) มาตรการในการควบคุมและกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ (3) การสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนในการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย
4. พื้นที่นำร่อง ขณะนี้มีหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แล้วรวม 2 หน่วยงาน ได้แก่ (1) องค์การเภสัชกรรม ในพื้นที่ปิดภายในอาคาร ที่องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี (2) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี
5.แผนการดำเนินการต่อไป- ระยะที่ 1 ( 6 เดือน -1 ปี) คือ การวิจัย และพัฒนาการปลูก การสกัด และผลิตภัณฑ์ยาสำหรับใช้การศึกษาทางคลินิกเบื้องต้นในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ – ระยะที่ 2 (1 – 3 ปี) เป็นการขยายปริมาณการผลิตและการสกัดให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในผู้ป่วยในกลุ่มโรคต่าง ๆ ให้มากขึ้น- ระยะที่ 3 การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม จะต้องรอผลการศึกษาวิจัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.

ร่วมแสดงความคิดเห็น