สักการะ “รอยพระพุทธบาท” ที่วัดพระบาทตากผ้าป่าซาง

วัดพระพุทธบาทตากผ้า หรือ วัดพระบาทตากผ้า เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชาวป่าซางและศรัทธาผู้เคารพนับถือมากมาย ภายในวัดมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุข 2 รอย คือรอยพระบาทใหญ่และรอยพระบาทเล็ก ซึ่งรอยพระบาทนี้พระศรีศิลป์สุนทรวาทีได้เรียบเรียงไว้ในตำนานไว้ว่า

ในอดีตสมัยครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จมายังดินแดนสุวรรณภูมิ มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะพร้อมด้วยพระอินทร์ได้เสด็จจาริกมาตามคามนิคมชนบทต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงถ้ำตับเตา ถ้ำเชียงดาว พระนอนขอนม่วง

พระบาทยั้งหวีดและพระธาตุทุ่งตุม เมื่อพระองค์เสด็จไปที่ใดก็ทรงเหยียบรอยพระบาทและประทานพระเกศาธาตุประดิษฐานไว้ที่นั้น ๆ ตามควรแก่พุทธอัชฌาศัย แล้วเสด็จเลียบลงมาตามฝั่งแม่น้ำปิง พอเสด็จมาถึงวัง (แอ่งน้ำ) แห่งหนึ่งซึ่งมีน้ำใสสะอาดมีท่าราบเตียนงาม

พระองค์ก็ทรงได้หยุดพักทรงเปลื้องผ้ากาสาวพัตร์ (จีวร) ให้พระอานนท์นำไปซัก สถานที่พระอานนท์นำผ้าไปซักนั้นเรียกว่า วังซักครัว มาจนปัจจุบัน วังซักครัวนี้อยู่ใต้สบกวง อันเป็นที่ ๆ แม่น้ำปิงและแม่น้ำกวงไหลมาบรรจบกัน ต่อจากนั้นพระองค์ก็เสด็จข้ามแม่น้ำพร้อมด้วยพุทธบริจาคจาริกโดยลำดับ ครั้นถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างทางไม่ไกลจากดอยม่อนช้างเท่าใดนัก พระองค์ก็ทรงหยุดนิ่งพร้อมกับทรงผินพระพักตร์หว่าย (บ่าย) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หมู่บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านหว่าย ปัจุบันคือบ้านหวาย จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จมาถึงบนลานผาลาด อันเป็นสถานที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยจะประดิษฐานปาทเจดีย์เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตว์โลกในกาลภายหน้า พระองค์จึงทรงอธิษฐานเหยียบพระบาทประดิษฐานรอยไว้บนผาลาดแห่งนี้ เมื่อพระองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้แล้วก็ทรงตรัสพยากรณ์ทำนายไว้ว่า

“ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฏชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่เราตถาคตมาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการบูชาของมหาชนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงประชาชนตลอด 5000 พระพรรษา”

หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐานรอยพระบาทและทรงตรัสพยากรณ์ไว้แล้ว ก็เสด็จพุทธดำเนินไปทางทิศบูรพา ลุถึงหัวดอยม่อนช้างก็ทรงหยุดประทับนอนสีหไสยาสน์ ณ ที่นั้นและทรงประทานพระเกศาแก่ตายายสองผัวเมียผู้เข้ามาปฏิบัติบำรุงพระองค์ด้วย ภัตตาหารและน้ำ ในโอกาสต่อมาได้มีผู้สร้างพระพุทธรูปนอนปางสีหไสยาสน์ไว้ ณ ที่นั้น ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “พระนอนม่อนช้าง”

วัดพระพุทธบาทตากผ้า ในกาลต่อมานั้นตามตำนานยังกล่าวว่า เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 3 พระศรีธรรมาโศกมหาราชได้ครองชมพูทวีป พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ได้ทรงทำนุบำรุงการพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ทรงโปรดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยไตรปิฏกเป็นครั้งที่ 3 ของโลก แต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ได้แพร่เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิและล้านนาไทย ในครั้งนั้นวัดพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้ ก็ได้รับการสถาปนาบำรุงรักษาด้วยแรงปสาทะของมหาชนผู้ได้รับแสงสว่างแห่งพุทธธรรม จนสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นปูชนียสถานสำคัญประจำท้องถิ่นมาตั้งแต่นั้น

กาลเวลาล่วงเลยไปอีกหลายศตวรรษจนกระทั่งลุถึงพุทธศักราช 1200 ปีเศษ พระนางจามเทวี ราชบุตรีของเจ้ากรุงละโว้ได้เสด็จขึ้นมาครองนครหริภุญชัยตามคำทูลเชิญของสุเทวฤาษีและสุกทันตฤาษี พระนางจามเทวีทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ได้ทรงอาราธนาพระสังฆเจ้า 500 รูปมาจากกรุงละโว้ให้มาเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนาไทย พระนางได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ได้จัดสร้างมณฑปครอบรอยพระบาทถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อสิ้นวงศ์กษัตริย์ราชวงศ์จามเทวีจนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาได้ครองเมือง บ้านเมืองก็ตกอยู่ในกลียุค เกิดศึกสงครามผู้คนแตกตื่นหนีภัยไปอาศัยอยู่ตามที่ปลอดภัยในป่าดง บ้านเมืองก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า วัดพระพุทธบาทตากผ้าก็มีอันเสื่อมโทรมไปตามกาลสมัยเช่นกัน

ต่อมาถึง พ.ศ.2375 ก็ปรากฏว่าครูบาอาจารย์หลายท่าน ซึ่งมีครูบาปารมี วัดสะปุ๋งหลวงเป็นประธานพร้อมด้วยศรัทธาหลายบ้าน หลายตำบลต่างมีกุศลเจตนาได้พากันมาสร้างวิหารหลังใหญ่ครอบมณฑปไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นที่พิงพักแก่ผู้มานมัสการให้ได้รับความสะดวก ปี พ.ศ.2472 คณะสงฆ์จังหวัดลำพูนมีพระครูพุทธิวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอป่าซาง ได้อาราธนานิมนต์ท่านครูบาศรีวิชัย จากวัดบ้านปาง อำเภอลี้ มาเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารจตุรมุขครอบรอยพระบาทจนสำเร็จ แต่นั้นมาก็ได้มีพระภิกษุสามเณรจากที่ต่าง ๆ มาพักอาศัยและจำพรรษาอยู่ที่วัดเป็นครั้งคราว เนื่องด้วยวัดพระพุทธบาทตากผ้ามีทำเลอันเหมาะสมเป็นที่บำเพ็ญสมณะธรรม ปี พ.ศ.2486 ท่านเจ้าคุณพระมงคลญาณมุณี เจ้าคณะจังหวัดลำพูน สำนักวัดพระยืนและท่านพระครูพิศาลพุทธิธร เจ้าคณะอำเภอป่าซาง

พร้อมด้วยศรัทธาประชาชนได้พร้อมใจกันไปอาราธนานิมนต์พระสุพรหมยานเถระ (ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโก) จากวัดหนองเจดีย์มาเป็นประธานในการก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น อุโบสถ กุฏิ กำแพงและถังเก็บน้ำขึ้น ต่อมาได้สร้างสำนักเรียน พระปริยัติธรรมและสำนักปฏิบัติธรรมขึ้น

วัดพระพุทธบาทตากผ้าจึงได้กลายเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน เป็นที่เคารพสักการะของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทุกปีในวันอัฐมีบูชา แรม 8 ค่ำเดือน 8 เหนือ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทางวัดจัดให้มีงานประเพณีสรงน้ำรอยพระพุทธบาทและพระบรมสารีริกธาตุเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้สักการะด้วยดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม และสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ถวายเป็นพุทธบูชาและสืบสานงานประเพณีอันดีงามของล้านนา

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น