นักวิชาการ มช. แนะวิธีแก้ปัญหาหมอกควันเร่งด่วน ต้องเริ่มในสิ่งใกล้ตัว “Clean Area”

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศ และเชื่อว่าต้องเริ่มในสิ่งที่ใกล้ตัว เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อให้ภายในอาคารที่ทำงานมีคุณภาพอากาศที่ดี กว่าภายนอกอาคารตัว “Clean Area”

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาคุณภาพอากาศในเชียงใหม่ของเรา โดยเฉพาะในเมืองมีปัญหาในเรื่องของปัญหาฝุ่นหมอกควัน ทำให้คุณภาพอากาศที่ต้องสัมผัสเป็นคุณภาพอากาศแย่ และยังมีฝุ่นควันขนาดเล็ก (PM 2.5) ในปริมาณสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง

และจากการที่ได้นำเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นควันในอากาศ ชนิดพกพามาทดลองใช้ ภายในอาคารได้คำตอบว่าภายในอาคารก็มีปริมาณฝุ่นควันระดับสูงไม่แพ้ภายนอก และการแก้ปัญหาให้มีคุณภาพอากาศภายในอาคารดี ก็จะเป็นผลดีกับผู้ทำงาน และจะต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ภายในอาคารมีคุณภาพอากาศที่ดี และได้มีคำแนะนำ

ในการป้องกันตนเอง จากปัญหาหมอกควันในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ดังนี้ 1. ในช่วงเวลาที่อากาศมีฝุ่นควัน PM2.5 ในปริมาณสูงจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (AQI ตั้งแต่ 101 ขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือตั้งแต่ 151 ขึ้นไปสำหรับคนทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมและการออกกำลังกายนอกบ้านเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นควันขนาดเล็กมากได้ เช่น หน้ากากชนิด N95 หรือ PPF2 โดยต้องใส่ให้ขอบแนบสนิทกับโครงรูปหน้า เพื่อไม่ให้อากาศภายนอกรั่วเข้าไป ส่วนหน้ากากอนามัยธรรมดาป้องกันได้แต่ฝุ่นหยาบ ไม่สามารถป้องกันฝุ่นละเอียดเข้าสู่ร่างกายได้

2.การอยู่ในอาคารหรือบ้านที่เปิดประตูหน้าต่างตามปกติ จะได้รับฝุ่นควันเท่ากับนอกบ้านทุกประการ 3. ห้องแอร์ขนาดใหญ่ที่ซีลไม่สนิท มีช่องให้อากาศภายนอกเข้าได้ง่าย หรือมีคนเข้าออกตลอดเวลา เช่น ร้านอาหาร ห้องเรียน ห้องทำงานหรือห้องรับแขก ปริมาณฝุ่นควันในห้องจะลดลงได้น้อยมาก ช้ามาก หรือแทบจะไม่ได้เลย 4. ห้องแอร์ที่ซีลค่อนข้างดี ถ้าปิดประตูหน้าต่างให้สนิท จะทำให้ฝุ่นควันลดลงได้ แต่จะลดลงได้ประมาณครึ่งหนึ่งของนอกบ้าน และใช้เวลาค่อนข้างนาน

5.ห้องแอร์ที่ซีลค่อนข้างดี และปิดประตูหน้าต่างให้สนิท การใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดมีแผ่นกรอง HEPA ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง จะช่วยลดปริมาณฝุ่นควันได้มากกว่า เร็วกว่า และสามารถลดจนได้ระดับสภาพอากาศที่ปลอดภัยได้ 6. สำหรับห้องที่ไม่ติดแอร์หรืออากาศเย็น การใช้พัดลมร่วมกับการใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดมีแผ่นกรอง HEPA สามารถลดปริมาณฝุ่นควันได้เช่นเดียวกัน แต่ต้องปิดประตูหน้าต่างทุกบานด้วย ไม่ต้องกลัวเรื่องอากาศไม่ถ่ายเท เพราะปกติจะมีช่องตามขอบหน้าต่างประตู ให้อากาศภายนอกรั่วไหลเข้าไปในบ้านได้ 7. ระบบปรับอากาศและกรองอากาศในรถยนต์ ที่ได้รับการดูแลสม่ำเสมอได้ผลดีมาก สามารถลดปริมาณฝุ่นควันได้เร็วและถึงระดับปลอดภัยได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องฟอกอากาศช่วย

และนอกจากนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ยังมีมาตรการระยะสั้นในการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศภายในอาคารสถาบันฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้กับบ้านหรือที่ทำงานท่านได้ 1. ห้ามเปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้โดยเด็ดขาด เมื่อเปิดประตูหน้าต่างให้รีบปิดทันที 2. ปิดรูระบายอากาศจากภายนอกเข้ามาภายในตัวอาคารทั้งหมด หรือใช้ HEPA filter กรองอากาศก่อนเข้าสู่ตัวอาคาร 3. ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศชนิด HEPA filter บริเวณหน้าเครื่องจ่ายอากาศ central air และห้องโถงทางเดินบางจุด

ศ.นพ.ขวัญชัย กล่าวต่อว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้รับความเอื้อเฟื้อในการติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับฝุ่นควัน PM 2.5 ภายนอกตัวอาคารสถาบันฯ จาก รศ.พิศิษฐ์ สิงห์ใจ ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศา สตร์ มช. โดยสามารถติดตามข้อมูลปริมาณฝุ่นควัน PM 2.5 ในอากาศภายนอก แบบทันทีทันการ ที่หน้าเว็บไซด์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ www.rihes.cmu.ac.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น