ที่วัดร้างเชียงใหม่ เขตเมืองทำเลทองเริ่มล่องหน

จากการตรวจสอบจำนวนวัดที่มีพระสงฆ์ทั่วไทยล่าสุดมี 41,310 วัด เชียงใหม่มีราวๆ 1,258 วัด เป็นสำนักสงฆ์กว่า 470 แห่ง และวัดร้างประมาณ 495 แห่งในเขตนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตเมืองโบราณ723 ปี จะมีศาสนสถานในรูปแบบวัดค่อนข้างมาก โดยเขตเมืองมีวัดถึง 120 แห่ง เขต.ต.ศรีภูมิมากสุดราวๆ 22 วัด หากไม่คุ้นชินกับนามวัด อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า นครเชียงใหม่ มีวัดเป็นหมื่น เป็นแสน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นชื่อวัด อาทิ วัดแสนฝาง วัดแสนเมืองมา วัดหมื่นเงินกอง วัดหมื่นล้าน วัดหมื่นสาร เป็นต้น

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา32 ทวิ ระบุว่า” วัดใดเป็นวัดร้างที่ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัย ในระหว่างที่ยังไม่มีการยุบเลิกวัดให้ สนง.พระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดนั้น รวมทั้งที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และทรัพย์สินของวัดนั้นด้วย” เมื่อประชาชนมีหนังสือถึงเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอแห่งท้องที่วัดร้างนั้นตั้งอยู่จะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างให้เป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาทำได้

ปัจจุบันมีวัดร้าง ทั่วประเทศ กว่า 5,617 วัด เป็นที่ดินร่วมๆหมื่นไร่ ที่ดินวัดร้างที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มักจะมีการพัฒนาเป็นตึกแถว อาคารพาณิชย์ ให้เช่าแต่ละจังหวัดต้องติดต่อ สนง.พระพุทธศาสนาจังหวัดนั้นๆ การเช่าที่ดินวัดร้างเพื่อการพาณิชย์ จะมีคณะกรรมการฯพิจารณาก่อนเสนอมหาเถรสมาคมอนุมัติ ส่วนใหญ่จะได้รับอายุสัญญาเช่าไม่เกิน 20 ปี ยกเว้นกรณีผู้เช่าลงทุนสูง บางแห่งถ้ามีการร้องเรียน อาจมีการทบทวนมติ เช่น กรณี วัดร้างต้นปูน ติดกับวัดล่ามช้าง เชียงใหม่ ที่ถูกพัฒนาเป็น รร.สืบสานภูมิปัญญาล้านนาเชียงใหม่ไปแล้ว หลังจากโครงการโรงเรียนสอนการโรงแรมพับฐานไป เพราะชาวเชียงใหม่ต่อต้าน

เชียงใหม่ เป็น 1 ในจังหวัด ที่มีวัดร้างมาก ติดอันดับต้นๆ ของไทย วัดที่มีสภาพ เป็นวัดร้าง ไม่มีการจัดสรรทำประโยชน์ร่วมๆ 106 แห่ง หรือ มีสภาพเป็นเจดีย์ เช่น วัดพระเจ้าอมเมี่ยง ใน ต.ช้างเผือก มีโฉนด 61 ตร.ว., วัดป่าคา, วัดกุญชร เป็นถนนเทศบาลไปแล้ว, วัดเจดีย์แดง มีเนื้อที่ร่วมๆ 1 งานเศษ หรือแม้แต่วัดธาตุกลาง ริมถ.สุริยวงศ์ นครเชียงใหม่ ขึ้นทะเบียนเป็นวัดร้าง มีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ สถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย หลังพุทธศตวรรษที่ 21 พื้นที่รอบวัดถูกจัดสรรให้ประชาชนเช่า นำเงินเข้ากองทุนศาสนสมบัติ ใกล้ๆ เป็นวัดยางกวง หรือวัดน่างรั้ว ที่ปรากฏชื่อ ในนิราศหริภุญชัย พ.ศ.2060 กว่า 495 วัดร้างที่ขึ้นทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน มีธรณีสงฆ์กว่า 4 พันไร่ ภาพที่ปรากฏต่อสายตาพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยว อาจเห็นซากเจดีย์ซุกอยู่ระหว่างตึกแถว เช่น ด้านหน้าตลาดประตูเชียงใหม่

ข้อมูลด้านโบราณคดีระบุว่า..ไม่ปรากฏหลักฐานชื่อวัดเชียงของ เนื้อที่กว่า 42 ตร.ว.ขึ้นทะเบียน ตามราชกิจจานุเบกษา 42 เล่มที่ 103 ตอนที่ 65 วันที่ 22 เม.ย. 2529 การจัดลำดับความโบราณ ระบุเพียงแค่เป็นสิ่งก่อสร้างเดี่ยว ด้านหลังตลาดประตูเชียงใหม่ ก็จะเห็น ซากเจดีย์โบราณวัดร้าง ส่วนหนึ่งของวัดฟ้อนสร้อย ปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา ไม่ต้องสร้างวัดเพิ่ม แก้ปมการ พัฒนาสถานที่ในเขตที่ทับซ้อนกับกฎหมายหลายๆฉบับ หรือกรณีที่ปรากฏตามสื่อสังคมเชิงประชดประชันการพัฒนาที่วัดร้าง ให้เจริญ ด้วยถ้อยความ ที่นี่ไม่มีครูบา มีแต่พระธรรมดาๆ รูปหนึ่งไม่รับนิมนต์ สวดไม่เป็น ตั้งใจมาพัฒนา….วัดร้างร่วมสมทบทุนได้ที่..มีเยอะมากตามสื่อสังคมขณะนี้ และกรณีการเพิกเฉย ไม่ควบคุม ดูแล สอดส่อง ศาสนสถาน ในชุมชน ที่ถูกกระแสเศรษฐกิจ สังคม กดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจนที่ธรณีสงฆ์ ที่ดินวัดร้างบางแห่งค่อยๆ ล่องหน หดหายไป ในเมืองใหญ่ๆ รวมถึงเชียงใหม่ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น