วัดป่าตาล เมืองเชียงใหม่

ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ดินแดนทางภาคเหนือที่ถูกเรียกขานมาอย่างช้านานว่า “ดินแดนล้านนา” ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือ จังหวัดทางภาคเหนือของเรา ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน มีเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี เป็นศูนย์กลางความเจริญทั้งทางด้าน การเมือง เศรษฐกิจ สังคมโดยเฉพาะทางด้านพุทธศาสนา ที่ประชาชนชาวเชียงใหม่ให้ความศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก

นอกเหนือจากเมืองเชียงใหม่จะเจริญรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนาแล้ว ยังมีศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมที่ลือชื่อมีความสวยงามไม่แพ้ภาคไหน ๆ ด้วยที่ทางภาคเหนือเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา จึงทำให้มีวัดมากมายหลายแห่ง ซึ่งแต่ละวัดก็มีความสวยงามและมีประวัติที่ยาวนานและแตกต่างกันออกไป ในเมืองเชียงใหม่เองก็มีวัดที่สำคัญมากมายหลายแห่ง ซึ่งเมื่อเรามาเที่ยวที่เมืองเชียงใหม่ เราจะพบกับวัดมากมายรวมทั้งยังสามารถพบเห็นเจดีย์เก่า ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวัด และที่สำคัญวัดเหล่านั้นหายไปไหน
ซึ่งเราคงจะต้องไปค้นหาคำตอบ…วัดไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ แต่อยู่รายรอบกับเจดีย์นั่นแหละ

วัดในสมัยก่อนซึ่งสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้าน ชาวล้านนาสมัยก่อนได้สร้างวัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแก่ศาสนาที่พวกเจาศรัทธาด้วยใจแรงกล้า ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีความวุ่นวายเกิดศึกสงครามขึ้น วัดวาอารามต่าง ๆ จำนวนมากถูกทำลายลงไป ไม่มีพระประจำอยู่ที่วัด เมื่อกาลเวลาผ่านไป วัดหลายวัดจึงรกร้าง สันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเพราะพิษภัยของสงคราม เพราะในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2101 จนถึงปี พ.ศ.2317 เป็นช่วงเวลาที่ล้านนาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จนกระทั่งปี พ.ศ.2339 เมื่อพระยากาวิละได้มาฟื้นฟูบ้านเมือง

หลังจากที่พระองค์ได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พระองค์พร้อมด้วยเจ้านายตระกูลเจ้าเจ็ดตนจึงได้ทำารบูรณะวัดต่าง ๆ ขึ้น แต่ก็ไม่อาจทำให้คืนสภาพเดิมได้ทุกวัด และในเวลาต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อวัดต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากภัยสงครามและสภาพเศรษฐกิจได้ตกต่ำลงจึงทำให้วัดร้างยิ่งร้างเข้าไปอีก ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นในปี พ.ศ.2464 วัดร้างต่าง ๆ เหล่านี้จึงได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียน เช่นวัดหอพระ ได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนหอพระ วัดสุทธาวาส เป็นวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เป็นต้น และวัดร้างบางวัดถูกนำมาใช้เป็นสถานที่ราชการ เช่น วัดเชียงรุ่ง สร้างเป็นโรงพยาบาลสวนปรุง วัดดอกแก้ว สร้างเป็นสำนักงานที่ดินเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ซะทุกวัดที่เปลี่ยนไป วัดหลายวัดได้สูญหายจนไม่เหลือหลักฐาน คงปรากฏแต่เพียงชื่อและเหตุการณ์เดิมในตำนานเท่านั้น และบางวัดก็เป็นวัดที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านแถบนั้นด้วย

ในจำนวนนั้นมีวัดที่ไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือถูกนำมาใช้เป็นสถานที่ราชการ ก็คือวัดป่าตาล หรือ วัดเจดีย์ป่าตาล ที่ประชาชนแถวซอยโปลีคลีนิครู้จักและเคารพศรัทธา เจดีย์วัดป่าตาลก็เป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในระยะแรกของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ซอยโปลีคลีนิค บนถนนช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์วัดป่าตาลในพงศาวดารโยนกเรียกชื่อว่า “วัดตาลวันมหาวิหาร” ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมื่อมีการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาโพธาราม ปัจจุบันคือวัดเจ็ดยอด พระธรรมทินมหาเถร เจ้าอาวาสวัดป่าตาล ได้เป็นประธานในการสังคายนาในปี พ.ศ.2030 พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นด้วยทองสัมฤทธิหนัก 33 แสน บรรจุพระบรมธาตุ 500 องค์ ขนานนามว่า “พระป่าตาลน้อย” ประดิษฐานไว้ที่วัดป่าตาล ปัจจุบันคือพระเจ้าแข้งคมที่อยู่ในวิหารวัดศรีเกิด

เจดีย์วัดป่าตาลเป็นเจดีย์ร้างที่ไม่มีแนวเขตที่แน่นอนด้านข้างเจดีย์ทางทิศตะวันออกเป็นลานจอดรถ ทางด้านใต้มีอาคารปลูกประชิด ส่วนทางด้านตะวัยตกฝั่งตรงกันข้ามกับถนนเป็นอาคารตึกแถวสูง 3 ชั้นเป็นอาคารพาณิชย์ ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์วัดป่าตาล เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมทั้งสี่ด้าน ฐานด้านล่างสุดเป็นสี่เหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานซ้อนกันสามชั้น รองรับฐานบัวแบบพิเศษย่อเก็จ เหนือฐานบัวเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุสี่เหลี่ยมมีซุ้มอยู่ทั้งสี่ด้าน มีลวดลายปูนปั้นประดับประดาอย่างสวยงาม

เหนือขึ้นไปจากชั้นเรือนธาตุเป็นองค์ระฆังเจดีย์ แต่ไม่ปรากฏชั้นถลารับมาลัยเถา แต่เป็นชั้นลดที่ควรยกเก็จตามเรือนธาตุด้านล่าง ชั้นลดนี้มีขนาดเตี้ยรับชั้นฐานแปดเหลี่ยม องค์ระฆังกลมบังลังก์กลม ก้านฉัตร บัวฝาละมี ปล้องไฉนอิทธิพลคล้ายแบบสุโขทัย ประมาณว่าควรมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เจดีย์วัดป่าตาลแห่งนี้เคยได้รับการบูรณะมีแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2528

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น