ตำนานดอยหลวงเชียงดาว

ความสำคัญของดอยหลวงเชียงดาว ไม่ใช่เพียงแค่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ ภูดอยแห่งนี้ยังมีเรื่องราวตำนานลี้ลับ จนได้ชื่อว่าเป็น “ขุนเขาแห่งความศักดิ์สิทธิ์” นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืชป่าและสัตว์ป่าที่หายากใกล้สูญพันธุ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงเชียงดาว มีตำนานเล่าขานเรื่องราวหลากหลายไม่ว่าจะเป็นตำนานเจ้าหลวงคำแดงที่โปรดปรานการเที่ยวป่าล่าสัตว์ในแถบสบคาบแม่นะ เทือกดอยเชียงดาวจนถึงถ้ำเชียงดาว กระทั่งเป็นที่มาของตำนานรักระหว่างเจ้าหลวงคำแดงกับนางอินทร์เหลา

ตำนานของดอยหลวงหรือดอยอ่างสลุง(อ่านว่าสรง) กล่าวไว้ว่าในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับที่ดอยหลวงและทรงสรงน้ำในอ่างเชิงเขานี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ดอยอ่างสลุง” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ดอยหลวงเชียงดาว” มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับ “ถ้ำเชียงดาว” ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งอดีตสมัยเมืองพะเยารุ่งเรืองอำนาจ เจ้าผู้ครองนครพระนามว่า “เจ้าหลวงคำแดง” พระองค์โปรดการเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ ครั้งหนึ่งได้เสด็จไล่ตามจับกวางงามตัวหนึ่ง พระองค์พยายามควบม้าไล่ตามอย่างกระชั้นชิดแต่ก็หาทันไม่ กวางได้วิ่งหนีไปจนถึงเชิงดอยอ่างสลุงและหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในถ้ำเชิงเขา เจ้าหลวงพยายามจะตามจับให้ได้ ลงจากหลังม้าแล้วทรงวิ่งตามกวางเข้าไปในถ้ำ

ส่วนไพรพลสุดที่จะทัดทานได้และวิ่งตามไม่ทัน เจ้าหลวงคำแดงเข้าไปเที่ยวหากวางในถ้ำแต่ไม่พบ พบแต่สาวงามผู้หนึ่งได้สนทนากันจนเป็นที่พอพระทัย ได้ทรงทราบความจากสาวงามชื่อ “อินทร์เหลา” ว่านางถูกสาปให้มาอยู่ในถ้ำนี้ ถ้าออกนอกถ้ำจะกลายร่างเป็นกวางทันที เจ้าหลวงได้ทรงทราบมีความสงสารและเกิดความเสน่หาได้อยู่กินกับนางกวางในถ้ำนั้นตลอดมา โดยไม่ยอมกลับไปบ้านเมือง แม้พวกข้าราชบริพารจะมาเชิญให้กลับก็ไม่ยอม พระองค์จะพานางไปอยู่ในเมืองก็ไม่ได้ เพราะนางจะกลายร่างเป็นกวาง ฉะนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยอยู่กินกับนางจนตลอดชีวิต

ชาวบ้านยังคงมีเชื่อว่าวิญญาณของเจ้าหลวงคำแดงกับนางอินทร์เหลายังคงสิงสถิตอยู่ในถ้ำเชียงดาวและบริเวณดอยหลวงมาจนทุกวันนี้ ดอยหลวงเชียงดาว อ่างสลุง ถ้ำเชียงดาว ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อความเชื่อของคนในท้องถิ่น ซึ่งแสดงออกได้จากการกระทำพิธีทำบุญของคนพื้นเมืองไม่ว่าจะเป็นที่วัดถ้ำเชียงดาว วัดถ้ำปากเปียงและวัดถ้ำผาปล่อง คนท้องถิ่นมักมองดอยหลวงเชียงดาวเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณค่าทางใจ เช่นบริเวณอ่างสลุง มีน้ำฝนตกลงมาไหลรวมกัน ทุกๆปีทางสำนักพระราชวัง พระราชพิธีหรือพิธีกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์ก็จะเอาน้ำจากที่แห่งนี้ไปประกอบพิธีกรรม คนท้องถิ่นเชียงดาวเชื่อว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่สิงสถิตของเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าแห่งภูตผีทั้งหลายที่คนล้านนานับถือ

ปัจจุบันดอยหลวงเชียงดาว ถือได้ว่าเป็นภูเขาหินปูนเพียงไม่กี่แห่งของประเทศที่ไม่เพียงแต่มีความงดงามของธรรมชาติเท่านั้น หากบริเวณนี้ยังเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่งของแม่น้ำปิง และยังเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด ด้วยความสูงที่อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเล 2,225 เมตร ประกอบไปด้วยดอยเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อน อันเกิดจากตะกอนทับถมอยู่ใต้ทะเลเมื่อราว 50 ล้านปีมาแล้ว กระทั่งในยุคต่อมามีการเคลื่อนตัวของชั้นเปลือกโลกอย่างรุนแรง ทำให้แผ่นดินยกตัวสูงขึ้นเป็นภูเขา ขณะเดียวกันแผ่นดินส่วนที่ทรุดตัวลงก็กลายเป็นแอ่งระหว่างภูเขานั้นไป และยิ่งนานวันสายน้ำและสายฝนก็ทำหน้าที่กัดเซาะเทือกเขาหินปูนให้สึกกร่อนเป็นผิวขรุขระเกิดหน้าผาสูงชัน

จากความโดดเด่นของภูเขาหินปูนที่มีความสูงเกิน 1,900 เมตร ทำให้พืชพรรณที่ขึ้นอาศัยบนดอยแห่งนี้มีลักษณะที่โดดเด่นพิเศษตามไปด้วย เมื่อขึ้นไปบนดอยหลวงเชียงดาวเราจะพบว่ามีดอกไม้สวยงามหลายชนิดขึ้นอยู่ตามเชิงผาและซอกหิน พรรณไม้บางชนิดขึ้นอยู่ได้เป็นกลุ่มๆ มีทั้งพืชล้มลุกและไม้พุ่มขนาดเล็ก ซึ่งเป็นพรรณไม้ในเขตอบอุ่น เราจึงเรียกกลุ่มของพรรณไม้ที่พบในลักษณะนี้ว่า สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (Sub-alpine)

ดอยหลวงเชียงดาวมีองค์ประกอบอื่นที่ช่วยให้สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ดำรงอยู่ได้ ด้วยสภาพของพื้นที่ที่เป็นหินปูนในบริเวณยอดดอย ผนวกกับสภาพอากาศที่แปรปรวนตลอดทั้งปี ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปราการธรรมชาติที่คอยปกป้องไม่ให้สังคมพืชป่าดิบเขามีโอกาสเติบโตขยายอาณาเขตขึ้นมาสู่ยอดเขาได้ ขณะเดียวกันความสูงในระดับที่มีเมฆปกคลุมทำให้ได้รับความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

ดังนั้นดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นเสมือนบ้านสำหรับพรรณพืชในเขตอบอุ่นที่กระจายพันธุ์มาจากที่ต่างๆ ทั้งจากหิมาลัยตะวันออก และจากตอนใต้ของจีน การกระจายพันธุ์มาบรรจบกันและสิ้นสุดลงที่ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้เท่านั้น

บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น