24 มี.ค.นี้ ร่วมใจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันอาทิตย์ที่ 24 มีค.นี้ เป็นครั้งแรกที่ขยายเวลาลงคะแนนตั้งแต่ 8 โมงเช้าไปจนถึง 5 โมงเย็น ซึ่งหลายๆประเทศก็มีการกำหนดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งที่แตกต่างกันไป เช่น ญี่ปุ่น กำหนดถึงเวลา 20.00น. สกอตแลนด์ 22.00 น.เป็นต้น

กกต.กำหนดตัวเลขผู้มีสิทธิ์ราวๆ 51.4 ล้านคน ซึ่ง จ.เชียงใหม่ มีประชากรกว่า 1.7 ล้านคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 1.3 ล้านคน มี 9 เขตเลือกตั้ง เขต 1 อ.เมืองเชียงใหม่, เขต 2 มี อ.สารภี และ อ.หางดง, เขต 3 ประกอบด้วย อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด และ อ.แม่ออน , เขต 4 มี อ.สันทราย อ.พร้าว และ อ.แม่แตง (เฉพาะ ต.แม่หอพระ), เขต 5 ประกอบด้วย อ.แม่ริม อ.สะเมิง อ.กัลยาณิวัฒนา และ อ.แม่แตง (ยกเว้น ต.แม่หอพระ) เขต 6 มี อ.ไชยปราการ อ.เชียงดาว และ อ.เวียงแหง, เขต 7 ประกอบด้วย อ.ฝาง และ อ.แม่อาย, เขต 8 ประกอบด้วย อ.สันป่าตอง อ.จอมทอง อ.แม่วาง และ อ.ดอยหล่อ และเขตเลือกตั้งที่ 9 มี อ.ฮอด อ.แม่แจ่ม อ.ดอยเต่า และ อ.อมก๋อย

คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้อง มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง ( หากเกิดตั้งแต่ 25 มี.ค. 2544 ถือว่ายังไม่มีสิทธิ) กลุ่มนี้จะมีถึงกว่า 7 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่า อาจสร้างปรากฎการณ์ใหม่ ในคะแนน ประชาธิปไตยบริสุทธิ์ เอกสารที่สำนักงานกกต. ในแต่ละพื้นที่จะจัดส่งทางไปรษณีย์ถึงบ้านให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 24 มี.ค.นี้ จะระบุถึงรายละเอียดผู้สมัครในเขตทุกคนที่จะเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิ์ศึกษารายละเอียด

และข้อแนะนำสำคัญๆเช่น หลักฐานที่ใช้ในการแสดงตนเลือกตั้ง สส.คือ บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้), บัตรหรือหลักฐานของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ใบขับขี่, หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต ) ฯลฯ

ทุกคนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากไม่ไปใช้สิทธิต้องแจ้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือท้องถิ่น (เทศบาล) ล่วงหน้าก่อน 7 วัน หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้จะถูกจำกัดสิทธิ การยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส., การสมัคร ส.ส., ส.ว หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้าน

การดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง เช่น รองผู้บริหารท้องถิ่น , ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้นระยะเวลาจํากัดสิทธิมีกําหนด 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิ การเลือกตั้ง 24 มีค.นี้ มีการพลิกรูปแบบนับคะแนนใหม่ตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ส. เขตมี 350 คนจากผู้สมัคร ส.ส. เขตที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้นๆ และคะแนนที่ได้ต้องมากกว่าคะแนน โหวต โน (ไม่ประสงค์ลงคะแนน ) กรณีไม่มีใครได้คะแนนมากกว่าคะแนน โหวต โน ให้จัดเลือกตั้งในเขตนั้นใหม่ ถ้ามีกรณีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้จับสลากต่อหน้า กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง

สำหรับการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 150 คนนั้นจะเอาคะแนนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ลบด้วยโหวต โน และบัตรเสียออกก่อน (คิดบนสมมติฐานว่าทุกพรรคการเมือง ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ)นำจำนวนดังกล่าวหารด้วย 500 จะได้คะแนนโดยประมาณต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน สูตรการเลือกตั้งแบบใหม่นี้เป็นผลให้พรรคการเมืองใหญ่ๆเล่นเกมส์ แยกสาขาพรรค เพื่อให้มีโอกาสได้ ส.ส. มากขึ้น การเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม สมมติว่ามีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 70% หรือราวๆ 37.1 ล้านคน เฉลี่ย 350 เขตเลือกตั้ง จะมีผู้มาใช้สิทธิตัวเลข คือ 100,000 คน (350 เขต คูณด้วย 1 แสนคน = 35 ล้านคะแนน)

ดังนั้นสมการส.ส.พึงมี คือ 35 ล้านเสียง หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน จะได้ตัวเลขเฉลี่ย 70,000 เสียง ต่อ ส.ส.เขต 1 คน เช่น พรรคดัง เคยได้คะแนนเลือกตั้งจากระบบเขตปี 2554 จำนวน 204 เขต 12,211,604 ล้านเสียง หากคิดสูตรแบบใหม่ (12,211,604 หารด้วย 70,000) จะได้ ส.ส.เขตเพียง 174 คนเท่านั้น ไม่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คน

หากพรรคดังต้องการจะได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ จะต้องได้คะแนนเขตที่แพ้มากกว่า 4ล้าน เสียง ดังนั้นเขตที่แพ้อีก 150 เขต จะต้องได้คะแนนประมาณ 20,000 คะแนน รวมเป็น 3ล้าน คะแนน พรรค ดังนี้ได้สส.เขต 200 คน จะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 14ล้าน+70,000 คะแนน จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ทางออกจากสูตรล๊อคตายแบบนี้ แต่ละพรรคจึงส่งผู้ที่เคยชนะระบบเขต ผู้ที่พอมีฐานเสียงกระจายลงพรรคสาขาสะท้อนให้เห็นชัดว่า บัตรใบเดียว เลือกคนที่รัก ได้พรรคที่ชอบ ได้ผู้นำที่ถูกใจ ต้องไปใช้สิทธิ เลือกตั้ง อย่าลืม ใช้สิทธิ 24 มีนาคมนี้ ที่คูหาใกล้บ้านที่มีสิทธิ์ มีเสียง 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

ร่วมแสดงความคิดเห็น